สนข.สรุปผลการศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) พ่วงทางด่วนขั้น 3 สายเหนือมูลค่ารวมเกือบ 8 หมื่นล้าน เสนอ คจร.เคาะเดินหน้าเปิด PPP ร่วมทุนเอกชน เผย ม.เกษตรฯ ยอมให้ปักเสาตอม่อรถไฟฟ้าแนวรั้ว แต่ต้องหาจุดสร้างเดปโป้ใหม่ เหตุ กทม.ไม่ยอมให้ใช้ร่วมเดปโป้สีเทา
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ว่า ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่เห็นชอบการพัฒนาทั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ส่วนเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก และส่วนทดแทน N1 เนื่องจากแนวถนนรัตนาธิเบศร์ งามวงศ์วาน และประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันตกกับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอกได้สมบูรณ์และใช้ประโยชน์เสาตอม่อบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) แล้ว ซึ่ง สนข.จะเร่งสรุปผลเพื่อนำเสนอ คจร.และคณะรัฐมนตรีขออนุมัติโครงการ โดยจะเป็นการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) เหมือนสายสีชมพูและสีเหลือง โดยรัฐจะอุดหนุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ ระหว่างก่อสร้างจะต้องให้มีผลกระทบน้อยที่สุด แต่เนื่องจาก 2 โครงการมีโครงสร้างซ้อนในแนวเส้นทางเดียวกัน จำเป็นต้องวางแผนเพื่อก่อสร้างฐานรากของทางด่วนและรถไฟฟ้าพร้อมกัน โดยระบบทางด่วนจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2567 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2568
รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.3 กม. มีจำนวน 20 สถานี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นผู้ดำเนินโครงการ มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 4.21% และควรใช้การลงทุน PPP เหมือนสายสีชมพูและสีเหลือง โดยรัฐจะอุดหนุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่ง คาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสาร 218,000 เที่ยวคน/วัน และจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่เชื่อมต่อ รวม 230,000 เที่ยวคน/วัน
การประเมินค่าลงทุนก่อสร้าง รวมกับต้นทุนการบริหารโครงการตลอด 30 ปี คิดตั้งแต่ปี 2561-2597 รวมทั้งสิ้น 112,505 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าศึกษาความเป็นไปได้ ค่าออกแบบรายละเอียด 820 ล้านบาท, ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 8,336 ล้านบาท ค่าสิ่งปลูกสร้าง 1,182 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา 21,948 ล้านบาท ค่าล้อเลื่อนและไฟฟ้าเครื่องกล 28,493 ล้านบาท, ค่าควบคุมการก่อสร้าง 1,440 ล้านบาท, ค่าบริหารจัดการ 38,497 ล้านบาท, ค่าบำรุงรักษา11,451 ล้านบาท, ค่างานด้านสิ่งแวดล้อม 338 ล้านบาท
เบื้องต้นจะมีการเวนคืน 180 หลังคาเรือน พื้นที่ประมาณ 91 ไร่ บริเวณแคราย, บางเขน, แยกเกษตร จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช, นวมินทร์, แยกลำสาลี โดยเป็นพื้นที่ตามแนวเส้นทาง 20 ไร่, ทางขึ้น-ลง 25 ไร่, อาคารจอดแล้วจร 2 ไร่ และศูนย์ซ่อมบำรุง 44 ไร่ โดยกำหนดศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจรไว้ที่บริเวณถนนเสรีไทย ใกล้สถานีลำสาลี พื้นที่กว่า 40 ไร่ ซึ่งเป็นที่ว่างของเอกชน ต่อมาพบว่าเจ้าของได้ทำสัญญากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อใช้เป็นเดปโป้ของรถไฟฟ้าสายสีเทาแล้ว จึงได้เจรจาขอใช้พื้นที่ร่วมเพื่อลดการเวนคืนแต่ไม่สามารถตกลงได้ ทำให้ต้องพิจารณาหาพื้นที่ใหม่ซึ่งในบริเวณใกล้เคียง 4-5 กม.พบว่ายังมีที่ว่างขนาดใหญ่อีกที่จะใช้เป็นเดปโป้สายสีน้ำตาล
นอกจากนี้ ยังได้เจรจากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อขอใช้พื้นที่จากแยกบางเขนถึงแยกเกษตร เนื่องจากมีทางเท้าแคบ 1.50 เมตร จำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ด้านในแนวรั้ว ม.เกษตรฯ เพื่อวางเสารถไฟฟ้าและทางเดิน ซึ่ง ม.เกษตรฯ ยินยอมให้วางเสาตอม่อ ส่วนทางเดินให้ทำเป็น Sky Walk ด้านบน ทำให้ต้องขยายเวลาศึกษาจากสิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2561 เป็นเดือน ก.ย. 2561
สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เริ่มต้นจากแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านจุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ แล้วเลี้ยวขวาลงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ ไปสิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง
ตลอดแนวจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย ดังนี้ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพู สถานีบางเขนเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีแยกเกษตรเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีฉลองรัชเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเทา และสถานีลำสาลีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีส้ม
สำหรับทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วง N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ระยะทาง 10.6 กม. 2. ช่วงทดแทน ตอน N1 แนวคลองบางบัว คลองบางเขน และเลียบขนานดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทาง 6.6 กม. ค่าก่อสร้างประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ผู้ดำเนินโครงการ ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 1.61% เวนคืน 35 หลังคาเรือน พื้นที่ 17 ไร่ บริเวณแนวคลองบางบัว บางเขน
สำหรับการประเมินค่าลงทุนก่อสร้าง รวมกับต้นทุนการบริหารโครงการตลอด 30 ปี รวมตั้งแต่ปี 2561-2593 รวมทั้งสิ้น 37,966 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าศึกษาความเป็นไปได้ ค่าออกแบบรายละเอียด 230 ล้านบาท, ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,270 ล้านบาท ค่าสิ่งปลูกสร้าง 107 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างระบบทางด่วน 18,312 ล้านบาท งานเชื่อมมอเตอร์เวย์และงานถนน 4,195 ล้านบาท, ค่าควบคุมการก่อสร้าง 320 ล้านบาท, ค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษา 8,282 ล้านบาท, ค่างานด้านสิ่งแวดล้อม 250 ล้านบาท
โครงการทางด่วนจะเป็นการต่อขยายแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อทางยกระดับอุตราภิมุข-ทางพิเศษศรีรัช-ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกที่ต่างระดับรัชวิภา เพื่อเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบทางพิเศษระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร โดยแนวโครงการจะมีเริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกมาตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแนวคลองบางบัว คลองบางเขน แล้วเลียบขนานไปตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต จนถึงทางแยกต่างระดับรัชวิภา