xs
xsm
sm
md
lg

ประมูลสร้างอาคารเฟส 2 สุวรรณภูมิฉาว กลุ่ม “ดวงฤทธิ์” คว้างาน กก.ส่อไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตาบอร์ดการท่าฯ วันนี้ (22 ส.ค. 61) ประกาศผลการคัดเลือกเอกชนออกแบบโครงการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ส่งกลิ่นฉาวอีก ล่าสุดคาดกลุ่ม "ดวงฤทธิ์" คว้าชิ้นปลามันจ้างออกแบบมูลค่า 329,569,514.44 บาท ส่วนกลุ่มร่วมทำงาน "เอสเอ" ที่มีคะแนนสูงสุดกลับถูกแพ้ฟาวล์เพราะทีมคณะกรรมการว่าด้วยพัสดุ (กวพ.) ตีตก อ้างบริษัทไม่แนบใบเสนอราคาต้นแบบใบเสนอราคา ขณะที่กลุ่มเอสเอโต้เอกสารชัดบริษัทไม่ได้รับเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคาจากทาง ทอท.เลย ซึ่งผลงานที่ชนะก็ใช้เกณฑ์ตัดสินด้วยคะแนนด้านเทคนิคเป็นหลัก แถมข้อเสนอราคาก็ไม่เกินวงเงินงบประมาณ

หลังจากที่ บริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ได้ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมประมูลงานออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มูลค่าก่อสร้าง 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าออกแบบ 329 ล้านบาท ซึ่งมีเอกชน 4 รายตัวยื่นซองประมูล 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่ม นิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสเอ-เออาร์เจ หรือกลุ่ม "ดวงฤทธิ์ บุนนาค" กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท เดอะโบว์มอนท์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด, บริษัทอีจิสเรล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทซีอีแอล เอ็นจิเนียส์ จำกัด, บริษัท ซีอีแอล อาร์คิเทคส์ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด, บริษัท อลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, EGIS AVIA และ EGIS RAIL S.A. กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท วาร์ดา แอสโซซิเอทส์ จำกัด, บริษัท ไวสโปรเจ็คคอลซัลติ้ง จำกัด และบริษัท จงลิม อาร์คิเทกเจอร์ จำกัด กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัทร่วมทำงาน เอส เอ ได้แก่ บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัทไชน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อะซูซาเซคเคอิ จำกัด และบริษัทสกายปาร์ตี้ จำกัด

แหล่งข่าวจากบริษัท การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยต่อ "ผู้จัดการรายวัน 360" ถึงผลการตัดสินว่าผลการพิจารณางานออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กลุ่มที่จะประกาศให้ชนะการเสนอราคาคือกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสเอ-เออาร์เจ หรือกลุ่ม "ดวงฤทธิ์ บุนนาค" ซึ่งจะมีการเสนอให้บอร์ดการท่าฯ พิจารณาในวันนี้ ขณะที่มีบริษัทเอกชนบางรายโดยเฉพาะกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัทร่วมทำงาน เอส เอ ได้แก่ บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัทไชน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อะซูซาเซคเคอิ จำกัด และบริษํท สกายปาร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้คะแนนด้านเทคนิคที่มีคะแนนสูงสุด ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมาได้ส่งหนังสือเชิญให้มาเจรจาต่อรองราคาเข้าร่วมเปิดซองข้อเสนอด้านราคา แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการว่าด้วยพัสดุ (กวพ.) อ้างว่าไม่มีการแนบใบเสนอราคา "ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับจากทาง ทอท." ตามที่ระบุในข้อ 13.3.1 ของข้อกำหนดรายละเอียดงานจ้างสำรวจออกแบบ โครงการหลังที่ 2 จึงปรับตกบริษัทดังกล่าว และเรียกกลุ่มที่ 1 กลุ่ม "ดวงฤิทธิ" มาเจรจาต่อรอง ซึ่งต่อมากลุ่มที่ 4 ได้ทำหนังสือคัดค้านผลการพิจารณาและตัดสินดังกล่าว

กลุ่มบริษัทเอสเอแจง "เหมือนถูกปล้นกลางแดด"

ล่าสุดทางกลุ่ม เอส เอ ได้ทำหนังสือขอให้มีการพิจารณารับข้อเสนอด้านราคาถึงประธานคณะกรรมการจัดหาพัสดุงานจ้างสำรวจออกแบบเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยหนังสือชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้รับเอกสาร "ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับมอบจาก ทอท." ในชุดเอกสารสำหรับการเสนองานจาก ทอท.แต่อย่างใด ซึ่งเอกสารส่วนนี้ได้แยกชุดต่างหากจากเงื่อนไขข้อกำหนด TOR จึงทำให้กลุ่มบริษัทร่วมทำงาน เอสเอส เข้าใจข้อความใน 13.3.1 ของข้อกำหนด สำหรับใบเสนอราคามาโดยตลอดว่าหมายถึงต้องเสนอราคาด้วยแบบ ง 1 ถึง ง 4 ซึ่งกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน เอส เอ ได้ปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

นอกจากนี้ในหนังสือยังได้ระบุว่า วัตถุประสงค์ของเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคานั้น หากมีจะใช้เพื่อป้องกันการสมยอมราคาในการประมูลงานจัดซื้อ จัดจ้างที่ใช้เกณฑ์ข้อเสนอด้านราคาเป็นตัวตัดสินเพียงประการเดียว สำหรับงานจัดจ้างสำรวจออกแบบ ซึ่งใช้เกณฑ์ตัดสินด้วยคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคเป็นหลัก และใช้ข้อเสนอด้านราคาที่เหมาะสมและไม่เกินวงเงินงบประมาณ ซึ่งทางกลุ่มก็ดำเนินวงเงินตามที่กำหนด ดังนั้นเอกสารดังกล่าวจึงไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด เพราะบริษัทชนะกันด้วยคะแนนไม่ใช่ด้วยราคาประมูล

"การพิจารณาของคณะกรรมการเหมือนปล้นกลางแดด ชนะด้านเทคนิคและอยู่ภายใต้วงเงินที่กำหนด แถมตอนซื้อซองเอกสารของการท่าฯ ก็ไม่มีต้นฉบับใบเสนอราคา ก็ไม่ได้รับมอบจากทาง ทอท. แล้วทางกลุ่มจะยื่นอย่างไร การประมูลต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งมองว่าเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคานั้นจึงไม่เป็นสาระสำคัญของข้อเสนอด้านราคา เพราะแบบ ง1 ถึง ง4 ที่มีการลงนามรับรองถูกต้องให้ข้อมูลการเสนอราคาได้ครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์ใดๆ สำหรับงานที่ตัดสินด้วยเกณฑ์คะแนนข้อเสนอทางเทคนิค" แหล่งข่าวจากบริษัท เอส เอ กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ กลุ่ม เอสเอส เป็นผู้ที่ได้คะแนนข้อเสนอเทคนิคเป็นอันดับ 1 ตามข้อ 14 ตามเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้เสนองาน ซึ่งกลุ่ม เอสเอ ไม่เกินวงเงินที่ขอจัดหาตามหลักคิดของการประกวดแบบเพื่อต้องการให้งานที่ดีที่สุด ดังนั้นข้อเสนอด้านราคาจึงเป็นเรื่องรองถัดไป และได้เสนอราคาในวงเงินที่ขอจัดหา เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการประกวดแบบของ ทอท.ครบถ้วนสมบูรณ์

จับตา ทอท.ไม่ได้แบบที่ดีที่สุด

แหล่งข่าวจากการท่าฯ กล่าวต่อไปว่า ผลการคัดเลือกผู้ที่ได้คะแนนเทคนิคอันดับถัดไป นั้นจะเป็นการสร้างความเสียหายให้กับ ทอท.มากกว่า เพราะจะทำให้งานที่ก่อสร้างออกมาไม่ได้งานที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายของการประกวดแบบ เพราะการเสนอราคาครั้งนี้ก็มีข้อมูลครบถ้วนชัดเจนถูกต้อง

เป็นที่น่าสังเกตว่าผลการพิจารณาแบบ โดยคัดเลือกกลุ่มที่ 1 ซึ่งคณะกรรมการยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีและมีคณะกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอก คือสมาคมสถาปนิกสยาม ซึ่งว่ากันว่ามีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกลุ่มผู้บริหารดังกล่าวมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม แบบของกลุ่ม 1 นี้คนในวงการออกแบบมองเหมือนงานออกแบบจากงาน Chinese Pavilion 2010 และมีความคล้ายของ Japan Pavilion 1992 ของ Tadao Ando ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตในการออกแบบครั้งนี้ว่ามีความคล้ายคลึงกับงานสถาปนิกที่เคยออกแบบมาในต่างประเทศ

สำหรับขั้นตอนการยื่นข้อเสนอประกวดแบบ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 Presentation ข้อเสนอ ครั้งที่ 1 วันที่ 8 ธันวาคม 2560 ทอท.ไม่พิจารณาการตัดสินเป็นระยะเวลา 230 วัน เกือบ 8 เดือน (8 ธันวาคม 2560 ถึง 26 กรกฎาคม 2561) Presentation ข้อเสนอครั้งที่ 2 วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 (มีสภาสถาปนิก / สมาคมสถาปนิกสยามมาเป็นกรรมการเพิ่มเติม ทั้งที่เวลาผ่านมา 230 วัน ไม่มีการพิจารณาและไม่มีกรรมการคนนอกร่วมเป็นกรรมการด้วย)

ดังนั้น การนำเสนองาน 2 ครั้งเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ และการมีกรรมการคนนอกเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ เป็นเรื่องที่ ทอท.จะต้องตอบคำถามถึงเรื่องความโปร่งใส ความยุติธรรมในครั้งนี้ ก่อนที่ ทอท.จะเสียหายไปมากกว่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น