ผู้จัดการรายวัน 360 - เอกชนแนะรัฐลดภาษีนำเข้าคาร์ซีตเพื่อให้ราคาลดลง ส่งผลต่อการจูงใจให้คนไทยหันมาใช้มากขึ้น เผยตลาดรวมสินค้าเด็กปีนี้ทรงตัวในรอบ 10 ปี ขณะที่ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง ยันตลาดพรีเมียมยังบูม ด้าน เบบี้กิ๊ฟ เปิดแผนรุก ขยายไลน์สินค้าและกลุ่มใหม่ ลุยสินค้านวัตกรรม ดันยอดโต 20%
นางสาวอรุณศรี พิริยเลิศศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบบี้ กิ๊ฟ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเด็ก เปิดเผยว่า บริษัทฯ ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสำหรับเด็ก โดยเฉพาะ คาร์ซีต หรือเบาะที่นั่งสำหรับเด็กในรถยนต์ จากเดิมที่อัตราภาษีนำเข้า 20% ส่งผลให้สินค้ามีราคาขายที่สูง ควรจะเหลือประมาณ 0-5% เพื่อให้ราคาจำหน่ายลดต่ำลงกว่านี้ เป็นแรงจูงใจให้พ่อแม่เด็กไทยหันมาใช้มากขึ้นเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก
ในต่างประเทศให้ความสำคัญต่อคาร์ซีตอย่างมาก ถือเป็นความปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่ในไทยยังมองเป็นเรื่องปรกติ แม้ว่าก่อนหน้านี้เคยมีส่วนร่วมกับทาง สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงคมนาคม ในการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยจากการสัญจรบนท้องถนน แต่ทางหน่วยงานราชการกลับให้ความสำคัญต่อการใส่หมวกกันน็อกในการขับขี่มอเตอร์ไซค์เป็นหลัก
ทั้งนี้ ตลาดรวมสินค้าเด็กมีมูลค่ารวมกว่า 34,000 ล้านบาท โดยแยกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ตามมูลค่า คือ 1. กลุ่มของกิน เช่น นมผง 2. กลุ่มของใช้แล้วหมดไป เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 3. กลุ่มเสื้อผ้า 4. สินค้าชิ้นเล็ก และ 5. สินค้าชิ้นใหญ่หรือเบบี้เฟอร์นิเจอร์ เช่น เก้าอี้นั่ง รถเข็น ที่นั่งในรถยนต์ เป็นต้น โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2561 นี้มีการเติบโตที่ลดลงด้วยในรอบเกือบ 10 ปีเหลือเพียง 10%
โครงสร้างครอบครัวไทยในปัจจุบันที่มีลูกไม่เกิน 1-2 คนต่อครอบครัว จากข้อมูลของการเจริญพันธุ์ของมารดาของไทยจากเวิลด์แบงก์ล่าสุดในปี 2561 คือ 1.6 ล้านคน จากปี 2507 ที่มีมากถึง 6.1 ล้านคน
จากสถิติของกองสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2514 อัตราการเกิดของเด็กใหม่อยู่ที่ 1.22 ล้านคน แต่ในปี 2526 ลดลงเหลือปีละ 1.04 ล้านคน ขณะที่ปี 2531 เหลือเพียง 8 แสนกว่าคน ส่วนปี 2545 ลดลงเหลือประมาณ 7.8 แสนคน ล่าสุดในปี 2556 การเกิดลดลงเหลือเพียง 6.7 แสนคนเท่านั้น
โดยในกลุ่มครอบครัวจ่ายเพื่อลูกคนเดียวอย่างเต็มที่ จึงทำให้สินค้ากลุ่มพรีเมียมเติบโตดี โดยตัวเลขจาก Marketing Buzz ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเด็ก 1 คนต่อเดือน ระดับ 2,500-5,000 บาทต่อเดือน สัดส่วน 41% ขณะที่ค่าใช้จ่ายระดับ 5,001-7,500 บาท สัดส่วน 22% และระดับ 7,501 บาทขึ้นไป สัดส่วนมากที่สุดคือ 50% จึงมีความมั่นใจว่าแนวโน้มตลาดรวมระดับพรีเมียมยังมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง
นางสาวอรุณศรีกล่าวต่อว่า ตลาดหลักของบริษัทฯ อยู่ในกลุ่มพรีเมียม ที่มีมูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านบาท แม้มูลค่าไม่มาก แต่การเติบโตดี 10% แม้ว่าจะมีคู่แข่งเข้ามามากก็ตาม โดยในช่วง 2-3 ปีมานี้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดจำนวนมาก ส่งผลให้การแข่งขันสูงขึ้น บริษัทฯ จึงวางแผนการขยายธุรกิจมากขึ้นทั้งรายได้เป็น 300 ล้านบาทในอีก 5 ปี (2561-2565) เติบโตปีละ 20% จากรายได้ปีที่แล้ว 120 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะโต 20% และใช้งบการตลาดปีนี้ 10 ล้านบาท
รวมทั้งการขยายกลุ่มสินค้าและช่องทางจำหน่าย จากเดิมมีรายได้จากสินค้าคาร์ซีตเป็นหลักกว่า 50% หรือมียอดขายเฉลี่ย 1,000-1,500 ยูนิตต่อปี สินค้ารถเข็นเด็ก 40% และอื่นๆ 10% จากปัจจุบันมีสินค้า 3 แบรนด์ คือ ปรินซ์แอนด์ปรินซ์เซส ของบริษัทเอง ซึ่งราคาจะต่ำกว่าอีกสองแบรนด์ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย คือ อะพริก้า (APRICA) จากญี่ปุ่น กับ อาเลเบเบ (AILEBEBE) จากญี่ปุ่น โดยสินค้าหลักอยู่ในกลุ่มเบบี้เฟอร์นิเจอร์
โดยขยายกลุ่มสินค้านวัตกรรม นำเข้าเครื่องฆ่าเชื้อจากเกาหลีเข้ามาทำตลาด ขวดนมเด็ก และเครื่องทำอาหารเด็ก เป็นต้น นอกจากนั้นขยายช่องทางจำหน่ายระบบออมนิแชนเนลมากขึ้น เช่น จะร่วมมือกับทางเจดีเซ็นทรัล และขยายเข้าร้านทาคาชิมาย่า เป็นต้น จากเดิมมีช่องทางหลักคือ หน้าร้านเบบี้กิ๊ฟ รวม 11 แห่ง คือ วงเวียนใหญ่ เดอะคริสตัลรามอินทรา เดอะคริสตัลราชพฤกษ์ เมกาบางนา สุขุมวิท 103 อุบลราชธานี นอร์ธปาร์ควิภาวดีรังสิต แหลมฉบัง เดอะไบร์ทพระราม 2 เซ็นทรัลนครราชสีมา เซ็นทรัลเวิลด์ และเคาน์เตอร์ 14 สาขา ช่องทางออนไลน์ เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า รวมทั้งยังมีไลน์เฟซบุ๊ก และร้านค้าแม่และเด็กทั่วไปด้วย