xs
xsm
sm
md
lg

หมดยุคคนดังถือสินค้าหลอกขาย “ไมโครอินฟลูเอนเซอร์” ตีตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ของเรวู แพลตฟอร์ม ภายในกลุ่มบริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด
ผู้จัดการรายวัน - “ไมโครฟลูเอนเซอร์” ชี้ขาดยอดขาย เหตุผู้บริโภคทันเกมการตลาด ไม่เชื่อบล็อกเกอร์/เซเลบริตีอีกต่อไป “วายดีเอ็ม” ส่ง “เรวูแพลตฟอร์ม” เปิดบริการไมโครอินฟลูเอนเซอร์ พบการเติบโตพุ่ง 40% ปีนี้คาดทำรายได้ 30 ล้านบาท

นายอนุพงศ์ จันทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลเทอเนท 65 จำกัด ผู้บริหารเรวู แพลตฟอร์ม ภายในกลุ่มบริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า กลยุทธ์อินฟลูเอนเซอร์มาร์เกตติ้ง หรือการทำคอนเทนต์มาร์เกตติ้ง ก่อนหน้านี้จะให้อินฟลูเอนเซอร์มาถือผลิตภัณฑ์ และโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แต่ปัจจุบันวิธีการได้เปลี่ยนไปแล้ว อินฟลูเอนเซอร์จะต้องทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ และบอกเล่าประสบการณ์ผ่านบทความรีวิว และนักการตลาดสามารถวัดผลได้

ทั้งนี้ ตลาดคอนเทนต์มาร์เกตติ้ง หรืออินฟลูเอนเซอร์ พบว่าปี 2558 เน้นสร้างกระแสให้กับแบรนด์ ส่วนปี 2559 เน้นทำคอนเทนต์ผ่านคนดัง หรือเพจดังๆ ส่วนปี 2560 สร้างคอนเทนต์ให้กับแบรนด์ โดยใช้ Power Influencer หรือ Blogger และปี 2561 เทรนด์การใช้ Micro Influencer มาแรงเพราะผู้บริโภคเลือกการเสพสื่อมากขึ้นเพื่อค้นหาความจริง
อนุพงศ์ จันทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลเทอเนท 65 จำกัด ผู้บริหารเรวู แพลตฟอร์ม ภายในกลุ่มบริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด
ส่งผลให้ปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์มีอยู่ 4 กลุ่ม คือ 1. เซเลบริตี 2. Power Influencer 3. Peer Influencer และ 4. Micro Influencer ทั้งนี้ ผู้บริโภคฉลาดไม่เชื่อถือในตัวอินฟลูเอนเซอร์แล้วเพราะรู้ว่าเป็นการทำโฆษณาขายของ ส่งผลให้ปีนี้เทรนด์ “ไมโครอินฟลูเซอร์” หรือการรีวิวจากผู้ใช้จริงกำลังมาแรง และในตลาดมีผู้เล่นอยู่ประมาณ 4-5 ราย เป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงมาก

“อินฟลูเอนเซอร์เป็นออนไลน์มาร์เกตติ้งที่กลุ่มสินค้าโดยเฉพาะบิวตี้ให้ความสำคัญ หรืออาจจะใช้งบกว่า 70% ของการทำตลาดมาทุ่มให้กับอินฟลูเอนเซอร์ โดยความนิยมยังคงเป็นการใช้เซเลบริตี ซึ่งหากเป็นเซเลบริตีระดับท็อป ค่าใช้จ่ายต่อ 1 โพสต์หรือ 1คลิป มีมูลค่าสูงถึง 5 แสน-1 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการซื้อโฆษณาบนสื่อทีวี แต่ไม่ตอบโจทย์ทางด้านยอดขายและการเข้าถึงข้อมูลจริง ดังนั้น ไมโครอินฟลูเอนเซอร์จึงเกิดขึ้นและมีความจำเป็นในการช่วยซัปพอร์ตการค้นหาข้อมูลสินค้านั้นๆ จากการโพสต์ของเซเลบริตี หรือข้อมูลอื่นๆ บนออนไลน์ เพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น”
ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ของเรวู แพลตฟอร์ม ภายในกลุ่มบริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด
ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคในการเสิร์ชหาข้อมูลในสินค้าต่างๆ นั้นเฉลี่ยจะค้นหารวม 3 ครั้ง คือ 1. เจอเว็บไซต์ หาแบรนด์ 2. เสิร์ชเจอบล็อกเกอร์ เพื่อหาข้อมูลการใช้งานเชิงลึก และ 3. เสิร์ชหารีวิวจากคนใช้จริง ดังนั้นคนใช้จริง คือไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่นักการตลาดต้องให้ความสำคัญในการเลือกให้ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 3 ข้อ คือ 1. Top Followers ไม่มีค่าอีกต่อไป ไม่ยึดติดที่ยอดผู้ติดตาม 2. Personalized Content ปล่อยให้ไมโครฟลูเอนเซอร์เขียนรีวิวอย่างเป็นธรรมชาติ 3. Call to Action คอนเทนต์ที่รีวิวแฝงการขายผ่านลิงก์

นายอนุพงศ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีเรวูแพลตฟอร์มในการให้บริการเกี่ยวกับฟลูเอนเซอร์มาร์เกตติ้ง หรือคอนเทนต์แพลตฟอร์มให้แก่ลูกค้า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมามีลูกค้ากว่า 300 ราย ทำแคมเปญรีวิวผ่านไมโครฟลูเอนเซอร์แล้วกว่า 1,356 แคมเปญ จากไมโครฟลูเอนเซอร์กว่า 8,500 คน ทำให้ปี 2561 นี้บริษัทมีรายได้โตขึ้น 40% หรือมีมูลค่า 30 ล้านบาท ปีหน้าคาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 40% เช่นกัน หรือในปีหน้าคาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มเป็น 500 ราย การทำแคมเปญน่าจะถึง 3,500 แคมเปญ หรือมีไมโครฟลูเอนเซอร์เพิ่มเป็น 2,000 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น