“สศอ.” เร่งเครื่องเตรียมจัดทำดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของอุตสาหกรรมศักยภาพ คัด 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายนำร่อง เผยนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดทำดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมรายสาขา หวังนำมาวิเคราะห์จุดอ่อน-แข็งให้เอกชนปรับใช้
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยในการสัมมนา “โอกาสและศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม” อุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 อุตสาหกรรม ได้แก่ การแปรรูปอาหาร ไบโอเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอากาศยานของไทย ว่า สศอ.ได้ดำเนินโครงการพัฒนาดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยจะทำเป็นดัชนีรายสาขาอุตสาหกรรมศักยภาพซึ่งจะทำให้สามารถสะท้อนถึงศักยภาพในการแข่งขันของแต่ละอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีลักษณะหรือปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factor) ที่แตกต่างกัน
“ดัชนีฯ ที่จัดทำจะมีความแตกต่างจากดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่จัดทำโดยองค์กรสากลต่างๆ เช่น IMD WEF หรือ UNIDO ที่เป็นการวัดความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศหรือระดับอุตสาหกรรมการผลิตในภาพรวมเท่านั้น แต่เราจะเน้นรายสาขา” นายณัฐพลกล่าว
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กฎกติกาการค้าต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องมือในการติดตามระดับความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาการของอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อนำมาวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของอุตสาหกรรมศักยภาพเป้าหมายของไทย และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญแล้วเป็นอย่างไร สามารถบอกถึงขนาดของช่องว่าง (Gap) ของการพัฒนาอุตสาหกรรม การจัดงานสัมมนาครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมและรายสาขาที่มีการพิจารณาจาก 9 ด้าน ได้แก่
1) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและกลยุทธ์ 2) ปัจจัยการผลิต 3) เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4) ด้านการผลิต 5) ความยั่งยืน 6) การบริหารจัดการ 7) ความสามารถในการเข้าถึงตลาด 8) ความสามารถในการทำกำไร 9) โอกาส/แนวโน้มอนาคต พร้อมจัดทำเว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยที่จะเผยแพร่ให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งมีระบบการกรอกข้อมูลแบบออนไลน์ เพื่อประเมินศักยภาพของตนเอง (Benchmark) เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมแต่ละสาขา ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรของตนเองได้ รวมถึงภาครัฐสามารถนำไปใช้ในการจัดทำนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยให้สอดคล้องกับสถานภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม ตรงจุด และทันท่วงทีต่อไป