กรมชลประทานขยายผลโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ด้วยการจัดระบบน้ำให้สวนทุเรียน อ.แกลง จ.ระยอง 2,500 ไร่ และวางแผนขยายพื้นที่ใกล้เคียง 3 ตำบลอีก 15,000 ไร่ เกษตรกรเผยการจัดระบบน้ำทำให้น้ำเข้าถึงสวนทุกแปลง สร้างความมั่นคงให้สวนทุเรียนจนเกิดปรากฏการณ์ “น้ำมาต้นยางพาราตาย” หรือการโค่นยางพาราปลูกทุเรียนแทน
นายมานิตย์ ดีเจริญชัยยะกุล ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมวังหว้า กล่าวถึงโครงการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง ว่า หลังจากสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 19 โดยสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ก่อสร้างระบบน้ำในพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ ทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนได้รับน้ำอย่างทั่วถึงทุกแปลง โดยแต่ละแปลงจะขุดสระน้ำไว้เก็บสำรองน้ำไว้ใช้ โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ปลายปี กระทั่งเข้าสู่ช่วงทุเรียนติดผลจนเก็บเกี่ยว
“เกษตรกรทุกรายจะขุดสระน้ำไว้สำหรับรองรับน้ำที่ส่งมา โดยขนาดสระน้ำเหมาะสมจะอยู่ที่ 1 ส่วนต่อพื้นที่สวน 10 ส่วน ใช้ไปก็เติมไปไม่มีหมด เราไม่ต้องกังวลใจเหมือนเดิมอีกแล้วที่ตื่นขึ้นมาต้องมาดูว่ามีน้ำเหลือในสระเท่าไหร่”
ข้อดีของโครงการจัดระบบน้ำเพี่อเกษตรกรรม ช่วยลดต้นทุนประหยัดค่ากระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำจากบ่อบาดาลขึ้นมาใช้ประมาณ 50% อีกส่วนหนึ่งความมั่นคงของน้ำช่วยให้น้ำหนักผลทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
“ประเด็นเรื่องการลดค่าไฟฟ้าเห็นได้ทันที แต่เรื่องการเพิ่มน้ำหนักผลทุเรียนเป็นข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดตามลำดับ เช่น เดิมน้ำหนักทุเรียน สมมติผลละ 2 กิโลกรัม ก็จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 3-4 กิโลกรัม ทำนองนั้น ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ราคาทุเรียนเฉลี่ยที่สวนกิโลกรัมละ 80-90 บาท เป็นปีทองที่ชาวสวนทุเรียนวังหว้ามีความสุขกันทั่วหน้า”
นายมานิตย์กล่าวว่า การมีน้ำถึงแปลงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกยางพารามาเป็นปลูกทุเรียน ซึ่งมีราคาดีกว่าแทน เฉพาะในเขต อ.แกลง เป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 2 แสนไร่ มากที่สุดของ จ.ระยอง รองลงมาเป็น อ.วังจันทร์ ประมาณ 1 แสนไร่ นอกจากนั้นเป็น อ.เมือง และ อ.บ้านค่าย ซึ่งเริ่มขยายตัวน้อยลง เพราะอยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
“ตั้งแต่มีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำประแสร์เป็นแหล่งน้ำต้นทุน และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำด้วยระบบท่อและสถานีสูบน้ำอีก 4 สถานี เสมือนการสร้างถนนสายหลักเอาไว้ก่อน จากนั้นสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 19 โดยสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ได้เข้ามาขยายผลต่อยอด โดยการเชื่อมท่อย่อยเข้ากับท่อหลักส่งน้ำถึงที่ทุกแปลง”
นายมานิตย์กล่าวว่า การจัดระบบน้ำของกรมชลประทานทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า น้ำมาต้นยางพาราตาย ซึ่งหมายถึงเมื่อมีน้ำเข้าถึงแปลง เกษตรกรโค่นต้นยางพาราแล้วปลูกทุเรียนแทน ที่ ต.วังหว้าก็เหมือนกัน พอน้ำมาถึงก็จัดการโค่นยางปลูกทุเรียนทันที
นายพิษณุ แถลงกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 19 โดยสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน กล่าวว่า สำนักงานฯ ยังวางแผนขยายพื้นที่จัดระบบส่งน้ำไปยัง ต.ห้วยยาง ต.พลงตาเอี่ยม อ.แกลง จ.ระยอง และ ต.วังจันทร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง แห่งละ 5,000 ไร่ รวมเป็น 15,000 ไร่ และกำลังออกแบบขยายการจัดระบบน้ำ ต.กระแสบน อ.แกลง อีก 6,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ เนื่องจากอาศัยแหล่งเงินทุนจากกองทุนจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 ได้เพียงแหล่งเดียว จึงสามารถจัดระบบน้ำในพื้นที่ จ.ระยอง เฉลี่ยได้เพียงปีละ 2,000 ไร่เท่านั้น ดังนั้น การพัฒนาการจัดระบบน้ำจึงต้องค่อยๆ ทยอยทำไป คาดว่าจะจบโครงการได้ในปี 2568
“เกษตรกรที่นี่อยากได้น้ำมาก ให้ความร่วมมืออย่างดี แม้การจัดระบบน้ำอาจรอนสิทธิเจ้าของที่ดินไปบ้าง แต่เกษตรกรเขาก็ยอมทุกอย่าง เพียงแค่เราไม่อาจขยายงานได้รวดเร็วเท่านั้น”
การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมเป็นวิธีการแพร่กระจายน้ำในแปลง หรือการชลประทานระดับไร่นา (On Farm Irriggation) ซึ่งจะเชื่อมระบบจากคลองส่งน้ำไปเป็นคูส่งน้ำ หรือในกรณีนี้จากท่อส่งน้ำหลักเป็นท่อส่งน้ำย่อย เพื่อกระจายน้ำเข้าถึงทุกแปลง ทำให้เกษตรกรได้รับน้ำอย่างทั่วถึง