xs
xsm
sm
md
lg

แตะบัตรคนจนรุ่นแรก ขึ้นรถเมล์ได้ 15 ส.ค.นี้ ขสมก.นำร่องแมงมุม 2.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ขสมก.เตรียมให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้แตะขึ้นรถเมล์โดยตรงตั้งแต่ 15 ส.ค.นี้ นำร่องเขตเดินรถที่ 7 ก่อน หลังมั่นใจระบบเสถียรแล้ว โดยต้องเป็นบัตรรุ่นแรก หรือแมงมุม 2.0 ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนกับ รฟม. และเร่งสรุปเทคนิคอัปเกรดเป็นเวอร์ชัน 2.5 ให้ทัน ต.ค.นี้ ยันต้องปรับ ช ทวี กรณีล่าช้า ส่วน Cash box จะเลิกสัญญาเช่าได้ใน ก.ย.นี้

นางพนิดา ทองสุข รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการติดตั้งและทดสอบระบบ E-Ticket และเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash box) ในรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. จำนวน 2,600 คันว่า ได้ติดตั้งรถ 800 คันเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างทดสอบ ซึ่งพบว่าระบบ E-Ticket ค่อนข้างเสถียร โดย ขสมก.จะเปิดให้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรผู้มีรายได้น้อย) แตะกับเครื่อง E-Ticket โดยตรงได้ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2561 นี้ นำร่องที่เขตการเดินรถที่ 7 ท่าอิฐ มีรถจำนวน 111 คัน โดยจะเป็นการหักเงินจากบัตรโดยตรง ซึ่งมีวงเงินสำหรับค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT และ ขสมก. รวมกัน 500 บาท/คน/เดือน

ปัจจุบัน ขสมก.ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการขึ้นฟรี โดยจะมีพนักงานฉีกคูปองให้เนื่องจากระบบ E-Ticket ยังใช้งานไม่ได้ โดยให้สังเกตหน้ารถจะมีสติกเกอร์สีเขียว ขณะที่ระบบ E-Ticket ที่จะเปิดรับบัตรสวัสดิการครั้งนี้ยังเป็นระบบแมงมุมเวอร์ชันแรก 2.0 ดังนั้น จะรองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรุ่นแรก จำนวน 1.3 ล้านใบ ในพื้นที กทม.และปริมณฑล ที่ผู้ถือบัตรยังไม่ได้นำไปขึ้นทะเบียนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่วนที่นำไปขึ้นทะเบียนกับ รฟม.แล้วจะไม่สามารถใช้ได้ ต้องรอให้ ขสมก.ปรับปรุงเป็นแมงมุมเวอร์ชัน 2.5 ก่อน

“ครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบการใช้งานจริงของระบบ E-Ticket (แมงมุม 2.0) ด้วย หากพบมีปัญหาจะเร่งปรับปรุงแก้ไขทันที ซึ่งในช่วงแรกเมื่อมีการใช้บัตรคนจนแตะกับเครื่อง E-Ticket พนักงาน ขสมก.จะฉีกคูปองร่วมด้วยเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบข้อมูลว่าตรงกับระบบตรวจนับและหักเงินหรือไม่ และจะทยอยใช้งาน E-ticket กับบัตรคนจน จนครบ 800 คันโดยเร็ว”

ส่วนการปรับปรุงดาต้าจากแมงมุม 2.0 เป็น 2.5 นั้น จากที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ รฟม.เป็นหน่วยงานกลางในการปรับปรุงด้านเทคนิคนั้น การหารือยังไม่ได้ข้อยุติ ล่าสุด ขสมก.ได้ทำหนังสือถึง รฟม.เพื่อให้จัดส่งข้อมูลในการอัปเกรดระบบ จากนั้นจะตั้งคณะทำงานเร่งเจรจากับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เพื่อปรับปรุงต่อไปโดยไม่มีการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเป้าหมายจะให้แล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้ได้ในเดือน ต.ค.นี้เพื่อให้บัตรแมงมุมและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นเวอร์ชัน 2.5 สามารถใช้กับรถ ขสมก.ได้ตามนโยบาย โดยจะเริ่มกับรถ ขสมก.เส้นทางที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT และสีม่วงก่อน

ส่วนกรณีเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash box) ไม่สามารถใช้งานได้นั้น ได้เตรียมยกเลิกสัญญาจ้างในส่วนนี้ ซึ่งกรมบัญชีกลางแจ้งว่าเป็นอำนาจของ ขสมก.ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการกฎหมาย ขสมก.เพื่อให้เป็นไปตามตามระเบียบ คาดว่าจะได้ข้อยุติในเดือน ก.ย.นี้

สำหรับสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ E-Ticket และ Cash box กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน (บ.ช ทวี จำกัด, บ.จัมป์ อัพ จำกัด, บ. เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด) วงเงิน 1,665 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ติดตั้งในรถ 2,600 คันนั้น คิดเป็นค่าเช่าเฉลี่ยประมาณ 320 บาทต่อคันต่อวัน แบ่งเป็นค่าเช่า Cash box 36%, E-Ticket 64% ดังนั้นจะจ่ายเฉพาะค่าเช่า E-Ticket โดยสัญญาจะเริ่มนับและเริ่มจ่ายค่าเช่าเมื่อตรวจรับรถครบ 2,600 คัน ในระหว่างนี้ ขสมก.ได้สงวนสิทธิ์การปรับตามสัญญากรณีส่งมอบล่าช้า


กำลังโหลดความคิดเห็น