xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เตรียมใส่เบาะ MRT คืนปี 62 ยันแค่มาตรการชั่วคราว ส่วนรถใหม่ 35 ขบวนมีเบาะปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รฟม.อวดโฉม! สถานีท่าพระ Interchange Station สำคัญของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ “BEM” เร่งแผนผลิตและทดสอบรถ ต้นปี 62 นำเข้าก่อน 4 ขบวนวิ่งเสริม MRT ใต้ดิน รฟม.ยันถอดเบาะมาตรการชั่วคราว ต้นปี 62 มีรถใหม่จะใส่เบาะคืนให้ผู้โดยสาร และยืนยันรถใหม่ 35 ขบวนจะมีเบาะครบตามปกติ

วันนี้ (10 ส.ค.) นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ บริเวณสถานีท่าพระ ว่า ตามแผนงานจะเปิดเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ส่วนใต้ จากหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ได้ช่วงเดือน ก.ย. 2562 ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ จะเปิดในเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งสถานีท่าพระเป็นศูนย์รวมการเปลี่ยนเส้นทาง (Interchange) ของผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และส่วนต่อขยายที่มีเส้นทางเป็นวงกลม อีกทั้งสายสีน้ำเงินถือเป็นเส้นทางสำคัญเนื่องจากมีจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าหลายสาย เช่น เชื่อมกับสีม่วง ที่เตาปูน, สามยอด เชื่อมกับสีแดงที่บางซื่อ, บางขุนนนท์ เชื่อมสีเขียวที่จตุจักร, สุขุมวิท, สีลม, บางหว้า เชื่อมกับแอร์พอร์ตลิงก์ที่เพชรบุรี เชื่อมกับสายสีเหลืองที่ลาดพร้าว ทำให้อนาคตหากเกิดปัญหากับรถไฟฟ้าสายใด ผู้โดยสารจะสามารถเปลี่ยนไปใช้อีกสายได้ การเดินทางจะสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

“รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นสายหลักที่กระจายผู้โดยสารไปยังสายอื่นๆ ส่วนค่าโดยสารของส่วนต่อขยายจะเป็นโครงสร้างเดียวกันกับสายสีน้ำเงิน MRT เริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุด 42 บาท หรือนั่งเกิน 12 สถานีจ่ายสูงสุดที่ 42 บาท ซึ่งหลักการระบบขนส่งต้องการจำนวนผู้โดยสารมากกว่าการมีค่าโดยสารสูงๆ ส่วนการลงทุนรถไฟฟ้าจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางและรอบๆ สถานี ที่จะมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้น GDP อีกด้วย” นายไพรินทร์กล่าว

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การดำเนินงานก่อสร้างสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ ภาพรวม ณ วันที่ 10 ส.ค. 2562 งานโยธาเสร็จแล้วกว่า 99.26% โดยอยู่ระหว่างการตรวจรับงาน ส่วนงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ซึ่ง รฟม.ลงนามสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้เป็นผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า บริหารจัดการการเดินรถและซ่อมบำรุง ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2560 ปัจจุบันมีความก้าวหน้ารวม 53.58% โดยช่วงที่ 1 สถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน รฟม.ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้วเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2560

ช่วงที่ 2 สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง มีความก้าวหน้า 55.29% และช่วงที่ 3 สถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ มีความก้าวหน้า 48.54% ซึ่งได้กำหนดช่วงการเปิดให้บริการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ส่วนต่อขยายด้านทิศใต้ ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค เปิดเดินรถภายในเดือนกันยายน 2562 และระยะที่ 2 ด้านทิศเหนือ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ เปิดภายในเดือนมีนาคม 2563 ทั้งนี้ แนวโน้มอาจจะเปิดได้เร็วขึ้นเป็นเดือน ส.ค. โดยจะเร่งดำเนินการประสานกับการไฟฟ้านครหลวง( กฟน.) ในการติดตั้งสถานีจ่ายไฟฟ้า (Substation) จ่ายกระแสไฟฟ้า Third Rail

ส่วนตัวรถไฟฟ้าที่ BEM สั่งซื้อเพิ่ม 35 ขบวนนั้นจะประกอบเสร็จปลายปี 2561 และทยอยส่งมอบเข้ามาต้นปี 2561 ครั้งละ 3 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ และทดสอบระบบ โดยช่วงแรกเดือน มี.ค.-เม.ย.จะมีรถใหม่ประมาณ 4 ขบวน เข้ามาวิ่งเสริมสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ-เตาปูนก่อน เพื่อลดความแออัด

และในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2562 จะมีรถใหม่เข้ามาทั้งหมด 12 ขบวน เพื่อรองรับการเปิดเดินรถส่วนต่อขยายด้านทิศใต้ ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค และก่อนเดือน มี.ค. 2563 รถที่เหลืออีก 23 ขบวนจะเข้ามาครบเพื่อรองรับการเปิดเดินรถด้านทิศเหนือ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยจะทำให้สายสีน้ำเงินมีรถทั้งหมด 54 ขบวน (19 ขบวนเดิม บวกกับ 35 ขบวนใหม่)

ทั้งนี้ ปริมาณผู้โดยสารสายสีน้ำเงิน MRT ปัจจุบัน 3-3.5 แสนคนต่อวัน ประเมินว่าจำนวนผู้โดยสารหลังเปิดส่วนต่อขยายด้านใต้จะเพิ่มเป็น 4 -4.5 แสนคนต่อวัน และในปี2563 เมื่อเปิดสายสีน้ำเงินครบเป็นวงกลมจะเพิ่มเป็นกว่า 5 แสนคนต่อวัน

***รฟม.ยันรถใหม่ 35 ขบวนไม่มีถอดเบาะ ขณะที่ต้นปี 62 เตรียมใส่เบาะคืน MRT 19 ขบวน
นายภคพงศ์กล่าวถึงมาตรการถอดเบาะที่นั่งแถวกลางของแต่ละตู้ในขบวนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน 19 ขบวน ว่า เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความคับคั่งของผู้โดยสารชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งต้นปี 2562 เมื่อขบวนรถไฟฟ้าใหม่เริ่มทยอยเข้ามาวิ่งเสริมสายสีน้ำเงิน ความแออัดหรือการรอรถนานจะลดลง รฟม.จะแจ้งให้ BEM ทยอยติดตั้งเบาะที่นั่งกลับคืนให้ผู้โดยสาร ส่วนรถใหม่ 35 ขบวนยืนยันว่าจะมีเบาะที่นั่งเหมือนปกติแน่นอน หากในอนาคตเกิดปัญหาผู้โดยสารคับคั่งอีกจะนำมาตรการถอดเบาะกลับมาใช้อีกได้ เป็นการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่น

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ มีระยะทางรวมประมาณ 27 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 21.5 กม. และโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 5.4 กม. มีสถานียกระดับ 15 สถานี และสถานีใต้ดิน 4 สถานี มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ) ที่สถานีหัวลำโพงไปบางแค และที่สถานีบางซื่อไปท่าพระ โดยมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม หรือ Interchange Station ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกท่าพระคร่อมอุโมงค์ทางลอดและสะพานข้ามแยกท่าพระ มี 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นออกบัตรโดยสาร (ชั้นจำหน่ายตั๋ว) ชั้นชานชาลาของสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และชั้นชานชาลาสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการเดินรถต่อเนื่องทั้งระบบแล้วจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีที่สมบูรณ์ และสามารถเดินทางเป็นวงกลมรอบกรุงเทพมหานครได้ ถือเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับปริมณฑลให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น






















กำลังโหลดความคิดเห็น