ความทุ่มเทของกลุ่ม ปตท.และพันธมิตรที่ร่วมมือในการวางรากฐานสร้าง “คน” ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อผลักดันให้การพัฒนาประเทศก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้ทัดเทียมประเทศชั้นนำ โดยจัดตั้งสถาบันการศึกษาฉีกแนวการเรียนการสอนใหม่ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เริ่มพิสูจน์ผลอย่างเด่นชัด
แค่เพียง 3 ปีที่ก่อตั้ง สถาบันวิทยสิริเมธี ได้รับการจัดลำดับใน วารสารชั้นนำระดับโลก Nature Index ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพงานวิจัยชั้นเลิศเมื่อปี 2560 ติดอันดับ 1 ของประเทศไทย ด้านสาขา Chemical Sciences
เห็นได้ว่ารูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นด้านการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิระดับปริญญาเอกทั้งชาวไทยและต่างชาติสอน มีห้องปฏิบัติการและเครื่องมือระดับ World Class ทำให้สถาบันวิทยสิริเมธี กลายเป็นมหาวิทยาลัยเป้าหมายที่นิสิตนักศึกษาระดับหัวกะทิที่ต้องการต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมต่างสนใจ เพราะไม่เพียงแต่เรียนฟรี การกินอยู่และที่พักฟรีเท่านั้น ยังได้รับค่าใช้จ่ายรายเดือน และมีโอกาสได้ทุนเรียนเพิ่มเติมในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีนิสิตไทยและต่างชาติศึกษาอยู่รวม 190 คน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถาบันวิทยสิริเมธีเกิดจากวิสัยทัศน์ของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) ที่มีกลยุทธ์เรื่อง Technology Advanced Green National Oil Company (TAGNOC) เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่ต้องการสร้างสถาบันการศึกษาแนวใหม่ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการบริษัทฯและบริษัทในกลุ่ม ปตท. ลงขันสนับสนุน จัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พื้นที่ 3 พันกว่าไร่
กำหนดเป้าหมายสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทียบเท่าสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกและติดอันดับ 1ใน 50 สถาบันวิจัยระดับโลกในปี 2578 มีส่วนช่วยผลิตบุคคลากรคุณภาพในการสร้างสรรค์งานวิจัยชั้นสูงที่สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับประเทศชาติ ส่วนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เน้นพัฒนาเด็กระดับมัธยมปลายที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อปลูกฝังการพัฒนาไปสู่การเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต
ปัจจุบัน สถาบันวิทยสิริเมธี ได้เปิด 4 สำนักวิชา โดยมี สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering: MSE) สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering: ESE) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering : BSE) ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of
Information Science and Technology : IST) ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
จากความสำเร็จในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด รัฐบาลจึงมีแผนต่อยอดด้วยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับ 3 จังหวัดทั้งระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา และประกาศให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ให้เป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำกรอบแนวคิดการยกระดับและพัฒนา EECi เพื่อสร้างพื้นที่นวัตกรรมใหม่
โดย EECi จะพัฒนาพื้นที่เป็นแบบ Smart Natural Innovation Platform รองรับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชั้นสูง มีทั้งศูนย์นวัตกรรม โรงงานต้นแบบ พร้อมโครงสร้างพื้นฐานและบริการครบวงจร และ Township มีระบบการบริหารจัดการอัจฉริยะทุกมิติด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการใช้โซลาร์ในการผลิตไฟฟ้า มีรถยนต์สาธารณะที่ใช้ไฟฟ้า และสถานีชาร์จไฟฟ้า เป็นต้น
ซึ่งขณะนี้การพัฒนา EECi เฟส 2 พื้นที่ 800-1,000 ไร่ ทาง ปตท.ได้ออกแบบและเตรียมเปิดประมูลโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบน้ำประปา ไฟฟ้า ฯลฯให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดย สวทช. จะลงทุนด้านอาคารและดึงนักวิจัยจากทั่วโลกเข้ามา คาดว่าจะเต็มรูปแบบในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า
ส่วนบุคลากรนักวิจัยต่างๆก็มีสถาบันวิทยสิริเมธีผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ โดยดึง Startup ทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาทดสอบใน EECi ด้วย ทำให้ไทยยกระดับจากประเทศผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมเทียบเท่าประเทศชั้นนำในเอเชียทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าผลักดันวังจันทร์วัลเลย์ที่เป็นที่ตั้ง EECi กลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมของประเทศ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ AI และการบิน สนองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรเพิ่มเติม จากที่มีกลุ่ม ปตท. มูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และ สวทช. เข้ามามีส่วนร่วมในขณะนี้
ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี กล่าวว่า สถาบันวิทยสิริเมธี เปิดสอนใน 4 สำนักวิชา ครอบคลุม OECD Megatrends หรือแนวโน้มของเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในอนาคต ที่คาดการณ์โดยองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy & Environment) วัสดุชั้นสูง (Advanced materials) เทคโนโลยีชีวภาพ( Biotechnologies) และดิจิทัล (Digital) โดยหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันวิทยสิริเมธีเป็นแบบบูรณาการวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้นิสิตทำการวิจัยเชิงลึกสร้างองค์ความรู้ใหม่ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ โดยนำองค์ความรู้เหล่านี้มาเชื่อมโยงต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมได้
สถาบันวิทยสิริเมธี นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมาร่วมทำงานวิจัยที่นี่ทั้ง บมจ.ไทยออยล์ บมจ.ไออาร์พีซี และบมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล ทำให้ผลงานวิจัยเมื่อลงในวารสาร Nature Index แล้วก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการช่วยพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืน ยังตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)