xs
xsm
sm
md
lg

“สมาพันธ์เฮลธ์” ผุด “microlife” ลดเสี่ยง STROKE

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมาพันธ์เฮลธ์” ผนึกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ “ซีที เอเชีย โรโบติกส์ฯ” พัฒนาเทคโนโลยี และการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ microlife ทำร่วมกับหุ่นยนต์ดินสอมินิ ลดเสี่ยง STROKE มั่นใจดันรายได้โต 12% เท่าตลาด

นางสาวธัญชนก อุดมทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาพันธ์เฮลธ์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยี และการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ microlife ซึ่งเป็นเครื่องวัดความดันโลหิตอัจฉริยะที่นำระบบไอโอทีเข้ามาใช้ อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ของไทยรายแรกในนาม หุ่นยนต์ดินสอมินิ ในการทำงานร่วมกันเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ขณะที่ซีที เอเชีย โรโบติกส์ รับหน้าที่ผลิตหุ่นยนต์เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างเครื่องวัดความดัน microlife กับแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

“การผสานเทคโนโลยีของบริษัท ร่วมกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และหุ่นยนต์ดินสอมินิ จะเชื่อมต่อการทำงานจากเครื่องถึงแพทย์ โดยจะบอกถึงระดับความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ ในร่างกายของคนไข้ และยังบอกถึงโอกาส และความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke อีกด้วย” นางสาวธัญชนกกล่าว

ปัจจุบันภาพรวมของตลาดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ที่ผ่านมาเติบโตราว 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโตที่ 12% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุด ซึ่งตลาดเครื่องมือแพทย์มีมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากเทรนด์การดูแลสุขภาพ และการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนเป็นอย่างมากในการผลักดันให้ประเทศเป็น HUB ทางด้านเครื่องมือแพทย์

ขณะที่บริษัทได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตเช่นเดียวกับการเติบโตของตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 12% ด้วยการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองปีละ 3 แสนราย มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวปีละ 60,000 ราย ติดอันดับท็อปทรีของสาเหตุการเสียชีวิตรองจากโรคมะเร็ง และหลอดเลือดหัวใจ

ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้ได้ตรวจเช็กร่างกายได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการใช้หุ่นยนต์ดินสอมินิ ซึ่งจะมีหน้าที่ดูแลคนป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรืออาจจะยังไม่มีคนดูแล ก็จะสามารถส่งข้อมูล ติดต่อไปยังญาติและหมอได้ ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีให้ผู้ป่วยยืมได้ทั้งหมด 7 ตัว และจะขยายไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายอื่นๆ ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น