xs
xsm
sm
md
lg

คอร์น เฟอร์รี่ เผยภาวะขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะในอนาคต อาจกระทบการเติบโตของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกอย่างมหาศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลการศึกษาโดยคอร์น เฟอร์รี่ (รหัสในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก : KFY) เปิดเผยในวันนี้ว่า การขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะซึ่งปัจจุบันถือเป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกภายในปี 2030 หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม

“บริษัทต่างๆ ต้องหาแนวทางบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะที่อาจเกิดขึ้น เพื่อปกป้องอนาคตของบริษัทเอง” ไมเคิล ดิสเตฟาโน ประธานกรรมการ คอร์น เฟอร์รี่ เอเชีย แปซิฟิก กล่าว “หากปล่อยไว้จนสายเกินการณ์ ปัญหาการขาดแคลนนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตของตลาดต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยภาวะการขาดดุลแรงงานผู้มีทักษะมากกว่า 12.3 ล้านคนภายในปี 2020 จะพุ่งสูงถึง 47.0 ล้านคนภายในปี 2030 และก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ประจำปีถึง 4.238 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วภูมิภาค”

งานศึกษาภาวะขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะทั่วโลกของคอร์น เฟอร์รี่ (Korn Ferry's Global Talent Crunch Study) ได้ประเมินช่องว่างระหว่างอุปสงค์กับอุปทานของแรงงานผู้มีทักษะในเขตเศรษฐกิจหลัก 20 เขตที่ 3 จุดเวลา คือ ปี 2020, 2025 และ 2030 ครอบคลุม 3 ภาคธุรกิจ ได้แก่ ภาคบริการทางการเงินและธุรกิจ, ภาคเทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม (TMT) และภาคอุตสาหกรรมการผลิต

ปัญหาการขาดดุลแรงงานผู้มีทักษะอาจสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก ดังนี้
● จีนจะประสบภาวะขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะมากที่สุด และอาจสูญเสียรายได้ประจำปีสูงถึง 1.433 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ซึ่งคิดเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาส 1 ใน 3 ของทั้งเอเชียแปซิฟิก
● ภาคบริการทางการเงินและธุรกิจของภูมิภาคจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ด้วยภาวะขาดดุลแรงงานผู้มีทักษะสูงถึง 3.7 ล้านคนภายในปี 2030 ส่งผลให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในแต่ละปีมากกว่า 439.62 พันล้านดอลลาร์ หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข
● ภาวะขาดดุลแรงงานผู้มีทักษะที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาค TMT ในจีนและญี่ปุ่น (มากถึง 3.2 ล้านคนภายในปี 2030) อาจทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลกของเอเชียตกอยู่ในความเสี่ยง
● เอเชียแปซิฟิกอาจเผชิญการขาดแคลนแรงงานในอนาคตสูงถึง 12.3 ล้านคนภายในปี 2020 และเพิ่มขึ้นถึง 47.0 ล้านคนในปี 2030 ซึ่งจะเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในแต่ละปีสูงถึง 4.238 ล้านล้านดอลลาร์
● ภาคบริการทางการเงินและธุรกิจของจีนและญี่ปุ่นจะเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในแต่ละปีสูงถึง 147.10 และ 113.62 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ ภายในปี 2030 ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ในอนาคตของทั้งภูมิภาค ทำให้ทั้งสองประเทศจัดเป็นอันดับ 2 และ 4 จาก 20 ประเทศที่อาจเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงที่สุดของโลก โดยอันดับหนึ่งคือสหรัฐอเมริกา
● อำนาจของภาคอุตสาหกรรมการผลิตจีนจะตกอยู่ในความเสี่ยง จากการขาดแคลนแรงงานกว่า 1.0 ล้านคน และความสูญเสียกว่า 71.43 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2030
● อำนาจของธุรกิจ TMT ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการขาดแคลนแรงงานมากกว่าครึ่งล้านคน และเกิดความสูญเสียกว่า 47.80 พันล้านดอลลาร์ของรายได้ประจำปีภายในปี 2030 ซึ่งเทียบเท่ากับ 20% ของภาค TMT ทั้งหมดของญี่ปุ่น โดยต้นทุนค่าเสียโอกาสของภาค TMT ญี่ปุ่นจะสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา
● ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั่วเอเชียแปซิฟิกอาจหยุดชะงักจากการขาดแคลนผู้มีทักษะด้าน TMT ที่สูงถึง 2.0 ล้านคน และเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในแต่ละปีมากกว่า 151.60 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030
● อินเดียเป็นประเทศเดียวใน 20 ประเทศที่มีแนวโน้มจะมีแรงงานผู้มีทักษะมากเกินความต้องการ โดยคาดว่าจะมีจำนวนมากเกินถึง 245.3 ล้านคนภายในปี 2030

นายภานุวัฒน์ กาญจะโนสถ ที่ปรึกษาอาวุโส คอร์นเฟอร์รี่ เฮย์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย ต้องเริ่มตื่นตัวตั้งแต่วันนี้เพื่อป้องกันวิกฤตการณ์ในอนาคต เพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม”

ภาคธุรกิจในประเทศไทย อาจได้รับผลกระทบดังนี้
● การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต อาจก่อให้เกิดการสูญเสียถึง 8.1 พันล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับ 2 รองจากจีน
● การขาดแคลนแรงงานในภาคเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม (TMT) ในปี 2030 อาจก่อให้เกิดการสูญเสียถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์
● การขาดแคลนแรงงานในภาคบริการทางการเงินและธุรกิจในปี 2030 อาจก่อให้เกิดการสูญเสียถึง 6.2 พันล้านดอลลาร์
● การเติบโตของกำลังการผลิตตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2030 จะถูกกำหนดจากค่าเฉลี่ยของอัตราการเติบโตประจำปีของกำลังการผลิตในแต่ละภาคธุรกิจตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2015 (คิดเป็นหน่วยดอลลาร์ต่อคน)

“แรงงานผู้มีทักษะที่เหมาะสมกับงาน ถือป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับองค์กร และแรงงานดังกล่าวจะเริ่มขาดแคลนขึ้นทุกวัน” นายภานุวัฒน์กล่าว “งานศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า แรงงานจะมีจำนวนไม่เพียงพอในทุกประเทศภายในปี 2030 ซึ่งองค์กรและธุรกิจต่างๆ ต้องหาทางแก้ไขวิกฤตแรงงานนี้ เมื่อเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรง การวางแผนและการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการจัดสรรกำลังคนที่มีทักษะจะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด”

“แนวทางการแก้ไขในอนาคตจะมาจากการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างคนกับเทคโนโลยี อุปสงค์อันมหาศาลต่อแรงงานผู้มีทักษะเฉพาะด้านซึ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ชี้เป็นชี้ตายในยุคของเรา มากกว่าการที่ธุรกิจจะถูกครอบงำโดยเทคโนโลยีดังที่เคยเป็นประเด็นกันเสียอีก” นายภานุวัฒน์กล่าวเสริม

วิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดดุลแรงงานทั่วโลกภายในปี 2020-2030
● สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรเลีย จะได้รับความเสียหายมากที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้ โดยจะเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสรวม 1.876 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2020
● การขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงที่สุดในภาคบริการทางการเงินและธุรกิจทั่วโลก โดยภาวะขาดดุลผู้มีทักษะอยู่ที่ 10.7 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2030
● ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในทุกภาคธุรกิจทั่วโลกอาจหยุดชะงักเพราะขาดผู้มีทักษะด้าน TMT ถึง 4.3 ล้านคน ภายในปี 2030
● ภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกจะเกิดการขาดดุลผู้มีทักษะสูงถึง 7.9 ล้านคนภายในปี 2030 แม้เป็นภาคธุรกิจเดียวที่มีแรงงานมากเกินความต้องการในปี 2020 ก็ตาม
● อินเดียเป็นประเทศเดียวที่จะมีแรงงานมากเกินความต้องการในปี 2025 และ 2030
● การขาดแคลนผู้มีทักษะจะกระทบต่อการเติบโตทั่วโลกภายในปี 2020
● ภายในปี 2030 อาจเกิดการขาดดุลแรงงานถึง 85.2 ล้านคน
● ก่อให้เกิดการสูญเสียรายประจำปีกว่า 8.452 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 เทียบเท่ากับผลผลิตมวลรวมของเยอรมนี และญี่ปุ่น
● ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยมีต้นทุนค่าเสียโอกาสรวมสูงถึง 1.876 ล้านล้านดอลลาร์ของรายได้ประจำปีภายในปี 2020 ที่จะมาถึงนี้
● ตลาดที่พัฒนาแล้วจะได้รับความเสียหายมากที่สุดจากการขาดแคลนแรงงานในอนาคต

ผลกระทบที่อาจเกิดกับเขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก
● สหรัฐฯ จะเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะอย่างรุนแรง และจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ จนทำให้สูญเสียรายได้ประจำปีกว่า 1.748 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 เทียบเท่ากับ 6% ของเศรษฐกิจของประเทศ
● เยอรมนีจะเกิดการขาดดุลแรงงานสูงสุดในแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มากถึง 4.9 ล้านคน และสูญเสียกว่า 630 พันล้านดอลลาร์ของรายได้ประจำปี ซึ่งเทียบเท่า 14% ของเศรษฐกิจประเทศ หากปัญหานี้ไมได้รับการแก้ไข
● ภาคบริการทางการเงินและธุรกิจของสหราชอาณาจักรจะขาดแคลนแรงงาน 676.2 ล้านคน และสูญเสียกว่า 90 พันล้านดอลลาร์ของรายได้ประจำปีภายในปี 2030 ซึ่งเทียบเท่า 7% ของเศรษฐกิจของภาคธุรกิจนี้

งานศึกษาครั้งนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลและข่าวกรองทางธุรกิจ เพื่อศึกษาถึงขอบเขตการขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะใน 20 เขตเศรษฐกิจหลัก ซึ่งได้แก่
ทวีปอเมริกา - บราซิล เม็กซิโก สหรัฐฯ
แถบยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา - ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร
เอเชียแปซิฟิก - ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น