xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” สั่งรัวประมูลบิ๊กโปรเจกต์คมนาคม โค้งสุดท้าย 7 เดือนก่อนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมคิด” เข็นประมูลโปรเจกต์คมนาคม ช่วง 7 เดือน โค้งสุดท้ายรัฐบาลก่อนเลือกตั้ง พร้อมเพิ่มโครงข่ายเชื่อมพื้นที่ภาคใต้ หนุน “ไทยแลนด์ริเวียร่า” ด้าน “อาคม” จัดแถวชง ครม.รถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง 4 แสนล้าน รถไฟสีแดง-รถไฟฟ้า และเร่งแผนขยายสนามบินของ ทอท.


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามงานของกระทรวงคมนาคม ว่า ภาพรวมการดำเนินโครงการภายใต้ความรับผิดชองกระทรวงคมนาคมเป็นไปด้วยดี ซึ่งช่วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ดี ทั้งนี้ ช่วง 7-8 เดือนก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดโครงการต่างๆ เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ให้ล่าช้า

โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลปัจจุบัน ได้อนุมัติไปแล้วจำนวน 21 โครงการ วงเงินรวม 1,099,677 ล้านบาท ได้แก่ ทางบก จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 177,003 ล้านบาท ทางราง จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 916,779 ล้านบาท และการพัฒนาพื้นที่เชิงพานิชย์ (แปลง A) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทางน้ำ จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 3,895 ล้านบาท ทางอากาศ จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 2,000 ล้านบาท

ซึ่ง พบว่าโครงการของกรมทางหลวงดำเนินการได้ตามสัญญา โดยเฉพาะโครงการในพื้นที่ EEC ส่วนมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ยังล่าช้านั้น เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเวนคืนจะต้องเร่งเคลียร์เพื่อประมูลโดยเร็ว
ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) นั้น โครงการเป็นไปตามแผน โดยให้เพิ่มโครงการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก "ไทยแลนด์ริเวียร่า" ตามแนวเส้นทางคู่ขนานถนนเพชรเกษม โดยให้ปรับใช้งบประมาณในการพัฒนาให้เริ่มตั้งแต่ปี 2562

สำหรับโครงการรถไฟ โครงข่ายลงสู่ภาคใต้นั้น ให้เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในไม่ช้า โดยให้ศึกษาต่อขยายเส้นทางจากหัวหิน-สุราษฎร์ธานี ส่วนรถไฟทางคู่ จะให้เพิ่มโครงข่ายรองเพื่อไปยังระนอง เพื่อเข้าสู่ทะเลฝั่งอันดามันได้สะดวก โดยโครงข่ายรถไฟจะต้องเข้าสู่พื้นที่ทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ และเป็นศูนย์กลางของ CLMV ขณะที่ โครงข่ายหลักรถไฟทางคู่เชื่อมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั้น จะต้องเพิ่มเติมเส้นทางสายรองไปยังเมืองรองด้วย สำหรับรถไฟทางคู่ระยะ 2 จะต้องเร่งนำเสนอครม.และเริ่มประมูลภายในปลายปี้นี้

ด้านการขนส่งทางบก ซึ่งมีแผนพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า และทรัคเทอร์มินอล นั้น หากโครงการใดเป็นโครงการใหญ่ สามารถพิจารณาให้เอกชนเข้ามาพัฒนาได้

การขนส่งทางอากาศนั้น จะเร่งการพัฒนาสนามบิน ซึ่งสรุปให้บริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. รับโอนสนามบินในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินสกลนคร สนามบินชุมพร และสนามบินตาก ไปบริหาร ให้เรียบร้อยภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีสนามบินภูมิภาคใดที่มีเอกชนอื่นสนใจเข้ามาบริหารจะเปิดโอกาสพิจารณาได้เพื่อให้สนามบินของไทยมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น

ด้านการขนส่งทางน้ำ ได้มอบหมายให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ช่วยพิจารณาการเพิ่มเส้นทางเดินเรือในอ่าวไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เส้นทางสัตหีบ-หัวหิน ,อ่าวไทยตอนบน-ภาคใต้ , สุราษฎร์ธานี -สมุย
“ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโตได้ เพราะโครงการคมนาคมดังนั้นอะไรที่ทำได้ให้เร่งเลย ไม่อยากให้ช้า และหากสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายได้ ไทยจะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคได้ ดังนั้น 7-8 เดือนไม่ให้นั่งเฉยๆ อะไรที่อยากให้เร่งรัดเสนอเข้ามาได้เพื่อให้คุ้มค่าที่สุด ”นายสมคิดกล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ตั้งแต่เดือนส.ค.- ปลายปี กระทรวงคมนาคมจะทยอยเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติ ครม. ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องผ่านบอร์ด สศช.เห็นชอบก่อน โดยรถไฟทางคู่ระยะ 2 และสายใหม่ รวม 9 โครงการ วงเงินรวม 393,354 ล้านบาท ประกอบด้วย รถไฟสายใหม่ ช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ รถไฟสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย จิระ - อุบลราชธานี ขอนแก่น - หนองคาย ชุมพร - สุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี - หาดใหญ่ - สงขลา หาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ และเด่นชัย – เชียงใหม่ จะเสนอครม.ในปีนี้ทั้งหมด

โดยเส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 323 กม. วงเงิน 72,921 ล้านบาทคาดว่าจะเสนอครม.ได้ในเดือนก.ค. ส่วนอีก 8 โครงการการรถไฟฯอยู่ระหว่างดำเนินการตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯเพิ่มเติม

สำหรับรถไฟความเร็วสูง” กรุงเทพ-หัวหิน” อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอคณะกรรมการ PPP โดยมีนโยบายให้ศึกษา ต่อขยายไปถึงสุราษฏร์ธานี รวมถึงการศึกษาโครงข่าย แนวรถไฟสายย่อยเชื่อมโครงข่ายหลักกับเมืองท่องเที่ยว เช่น ชุมพร-ระนอง, สุราษฏร์ธานี-กระบี่ ,เชียงใหม่-เชียงราย เป็นต้น

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้(เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท จะเปิดประมูลในเดือนต.ค. สายสีส้ม(ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท และการลงทุนPPP เดินรถ ตลอดสาย จะเสนอครม.ไม่เกินพ.ย. สำหรับสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 สาย วงเงินกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท คาดเสนอครม.ในต.ค.-พ.ย. ส่วนการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ และเส้นทางช่วงบางซื่อ-รังสิตเป็นไปตามแผน โดยจะมีการเร่งรัดการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และรถไฟฟ้า นอกจากนี้จะเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ภูเก็ต ขออนุมัติและประมูลในปีนี้เช่นกัน

สำหรับท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเปิดประมูลปลายปีนี้ นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการประมูล ไอซีดีลาดกระบัง และ การบริหารโครงการก่อสร้างศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO)ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการเพิ่มความถี่เดินรถไฟขนส่งสินค้าไปยังแหลมฉบัง เพื่อสนับสนุนพื้นที่ EEC

ส่วนการพัฒนาสนามบินของทอท. นั้น ได้แก่โครงการก่อสร้างความยาวทางวิ่งเส้นที่ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) วงเงิน 24,651 ล้านบาท - โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของ สุวรรณภูมิ วงเงิน 41,261 ล้านบาท และการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร และแก้ไขปัญหาความแออัด (Regional Hub Airport) โครงการท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 และโครงการท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2

อย่างไรก็ตาม ได้เร่งรัดให้แก้ปัญหาสนามบินภูเก็ต ซึ่งเปิดอาคารผู้โดยสารภายในประเทศแต่ยังมีปัญหาด้านระบบแอร์ และขยายพื้นที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สนามบินดอนเมืองมีแผนพัฒนาปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเก่า มีระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ ( APM) ช่วยแก้ปัญหาจราจรภายใน และบริหารจัดการพื้นที่ แก้ปัญหาความแออัดของสนามบินเชียงราย เนื่องจากมีร้านค้ามากเกินไป จนไม่มีพื้นที่ให้ผู้โดยสาร ทั้งนี้กรณีที่ทอท.จะรับโอนสนามบินภูมิภาคไปบริหาร จะต้องให้ความสำคัญในการใช้พื้นที่ด้วย เกณฑ์การให้บริการ ราคาต้องเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ไม่ใช่มองเรื่องกำไรมากเกินไป





กำลังโหลดความคิดเห็น