xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบีหนุนเงินกู้กว่า 3.4 พันล.ขยาย 4 เลน เสริมโครงข่ายเขตศก.พิเศษ”นครพนมและ หนองคาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอดีบี  เซ็นอนุมัติวงเงินกู้ กว่า 3,400 ล. ให้ กรมทางหลวง ขยาย4 เลน มาตรฐานทางชั้นพิเศษ ทางหลวงหมายเลข 22 ช่วง สกลนคร-นครพนม และหมายเลข 23 ช่วง ร้อยเอ็ด-ยโสธร เสริมโครงข่ายเชื่อม สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาวแห่งที่ 3 หนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมและ หนองคาย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในสัญญาเงินกู้ระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี. สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 22 ช่วง อ.หนองหาน - อ.พังโคน ช่วงสกลนคร - นครพนม และทางหลวงหมายเลข 23 ช่วงร้อยเอ็ด - ยโสธร โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมลงนามกับนายราเมช สุบรามาเนียม ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย ( ADB) ได้ให้ความสนับสนุนวงเงินกู้ Loan 3582-TH GMS HEP Phase II (Greater Mekong Subregion (GMS) Highway Expansion Phase 2 Project (HEP 2) ) สำหรับใช้พัฒนาขยายทางหลวงหมายเลข 22 ตอน อ.หนองหาน-อ.พังโคน ตอน สกลนคร-นครพนม และทางหลวงหมายเลข 23 ตอน ร้อยเอ็ด-ยโสธร ให้เป็น 4 ช่องจราจรโดยมีวงเงินทั้งสิ้น 6,808 ล้านบาท แบ่งเป็นกรอบวงเงินกู้ 50% หรือเท่ากับ 3,404 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 50%

โดยทางหลวงหมายเลข 22 ตอน อ.หนองหาน-พังโคน และตอนสกลนคร-นครพนม แบ่งการก่อสร้าง เป็น 4 ตอน งบประมาณ 3,720 ล้านบาท มี ผู้รับจ้างได้แก่ บ.เสริมสงวนก่อสร้าง บ.พระนครศรีอยุธยาพาณิชย์และอุตสาหกรรมจำกัด บ.บัญชากิจ 4 บ.ไทยวัฒน์วิศวการทาง
ทางหลวงหมายเลข 23 ตอน ร้อยเอ็ด –ยโสธร แบ่งการก่อสร้างเป็น2 ตอน งบประมาณ2,200ล้าน มีผู้รับจ้าง คือ 1. บ.chaina Railway 20t Bureau Group Corporation LTD. และ2.บ.การร่วมทุนระหว่าง บ.ช.ทวีก่อสร้าง และ บ.ทองมาคอนแทรคเตอร์

ทั้งนี้ การสนับสนุนเงินกู้ดังกล่าว เนื่องจากจากผลการประเมินของ ADB พบว่า โครงการต่างๆก่อนหน้านี้ที่ ADB ให้ความสนับสนุน เช่น โครงการก่อสร้างทางสายหลักให้เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 12 พิษณุโลก-อ.หล่มสัก และทางหลวงหมายเลข 359 อ.พนมสารคาม-สระแก้ว ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยและบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

และจากผลการประเมินของ ADB พบว่าผลการดำเนินการเบิกจ่ายของโครงการเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ มีประสิทธิภาพการบริหารโครงการดีเยี่ยม

โดยโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 22 ตอน อ.หนองหาน-อ.พังโคน และตอน สกลนคร-นครพนม เป็นการก่อสร้างขยายจากทาง 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร มาตรฐานทางชั้นพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงสายเอเชีย หมายเลข 15 (AH15) ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ข้ามแม่น้ำโขงที่จ.นครพนม เชื่อมต่อไปยังเมืองท่าแขก สปป.ลาว และเมืองวินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและยังสามารถเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้

นอกจากนี้เส้นทางโครงข่าย เลย-อุดรธานี-สกลนคร-นครพนม ยังเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนนครพนมและพื้นที่ด่านชายแดนหนองคายเข้าด้วยกัน และเป็นโครงข่ายที่สนับสนุนแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 (เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมและเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย)

สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 23 ตอน ร้อยเอ็ด-ยโสธร     เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางโครงข่าย นครสวรรค์-ชัยภูมิ-อ.บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ยโสธร-อุบลราชธานี-ช่องเม็ก เชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และเชื่อมต่อเข้าสู่โครงข่ายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ผ่านทางหลวงหมายเลข 21 ที่ อ.แก่งคร้อ เพื่อเข้าสู่ระเบียงเศรษฐกิจที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีความสำคัญช่วยส่งเสริมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากตอนใต้ของสปป.ลาว ผ่านไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงได้พิจารณาเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยในเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกที่มีปริมาณมาก ซึ่งเดิมการจอดพักตามข้างทางหรือไหล่ทางของรถบรรทุกอาจก่อให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุและทำให้เกิดอุปสรรคด้านความคล่องตัวของการจราจร หรือการขับรถทางไกลเป็นระยะเวลานานโดยไม่หยุดพักทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทาง

จึงได้ออกแบบให้มีพื้นที่จุดพักรถบรรทุก หรือ Truck Rest Area จำนวน 3 จุด ได้แก่ สกลนคร-นครพนม ตอน 2 ร้อยเอ็ด-ยโสธร ตอน 1 และ 2 รวมทั้งให้มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักบนเส้นทางดังกล่าว และได้มีการกำหนดจุดตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกบนสายทาง หรือ Virtual Weight Station ช่วง อ.หนองหาน-อ.พังโคน ตอน 2 เพื่อควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการบรรทุกน้ำหนักเกินที่จะส่งผลต่ออายุการใช้งานของทางหลวง และช่วยประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงทางของประเทศต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น