xs
xsm
sm
md
lg

สคบ.จัดหนัก 3 ประเด็นร้อน หนุนทำมาตรฐานวิชาชีพขายตรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สคบ.เอาจริง! เกาะติด 3 ประเด็นร้อน “โฆษณาเกินจริงและเป็นเท็จ-ธุรกิจกลายพันธุ์แชร์ลูกโซ่ และอี-วอลเล็ต” หวังภาคธุรกิจเดินตามกฎหมายถูกต้อง มีความรับผิดชอบต่อสังคม หนุนจัดทำมาตรฐานวิชาชีพธุรกิจขายตรง สร้างความเชื่อมั่นกลับคืน ด้านนายก ส.พัฒนาการขายตรงไทย หนุนจัดทำมาตรฐานวิชาชีพ ยกระดับอาชีพขายตรงไทยสู่สากล มีความน่าเชื่อถือ ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจขายตรงไทยมีมูลค่าตลาดกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท มีผู้ประกอบอาชีพขายตรงกว่า 1.2 ล้านคน คาดจัดทำมาตรฐานวิชาชีพแล้วเสร็จต้นปี 2562

พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่องสมรรถนะขายตรงไทยยุคใหม่ ภายใต้โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจค้าปลีก สาขาธุรกิจขายตรง ว่าปัญหาในธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงที่ สคบ.กำลังเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดมี 3 ประเด็น คือ การสื่อสารและการโฆษณาที่เกินจริงและเป็นเท็จ ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนด โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งพบมาก โดย สคบ.จะเร่งตรวจสอบโฆษณาทุกชิ้น หากเรื่องใดอยู่ในความรับผิดชอบก็จะเรียกผู้ประกอบการรายนั้นมาชี้แจง แต่หากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) ก็จะส่งต่อเพื่อให้ดำเนินการต่อไป

อีกเรื่องคือธุรกิจขายตรง ที่ซึ่งมีการจ่ายผลตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามแผน ลักษณะนี้อาจกลายพันธุ์ไปสู่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ได้ หรืออาจมีเจตนาแอบแฝงเป็นแชร์ลูกโซ่ เบื้องต้นพิจารณาได้จากว่าธุรกิจนั้นไม่มีสินค้ามาจำหน่ายจริง หรือการเรียกเก็บค่าสมาชิก คล้ายกับการระดมทุน โดยหากตรวจสอบพบว่ามีประเด็นที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ สคบ.ก็จะเร่งส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ติดตามต่อไป

สุดท้ายคือเรื่อง อี-วอลเล็ต (E-Wallet) หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากผู้ประกอบการต้องการยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจขายตรงด้วยจะต้องได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสียก่อน จากนั้น สคบ.จึงจะรับจดทะเบียนธุรกิจขายตรง ปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการอี-วอลเล็ตที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.เพียงกว่า 10 รายเท่านั้น อย่างไรก็ดี มองว่าในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจขายตรง และอี-วอลเล็ตก็เข้าข่ายคล้ายกับการระดมทุน หากไม่มี ธปท.เข้ามาดูแลก็มีโอกาสกลายพันธุ์ไปสู่แชร์ลูกโซ่ได้เช่นกัน

“ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ สคบ.เฝ้าระวังและติดตาม โดยอยากเห็นธุรกิจขายตรงมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และสังคม ไม่อยากเห็นธุรกิจขายตรงแปรเปลี่ยนไปเป็นแชร์ลูกโซ่ ในเบื้องต้นหากมีเรื่องร้องเรียนใดเข้ามา สคบ.ก็จะเร่งส่งคนเข้าไปตรวจสอบ ที่ผ่านมาพบว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี อีกทั้ง เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับธุรกิจขายตรงปัจจุบันก็มีน้อยลง ปีที่ผ่านมาเป็นหลัก 200 กว่าราย และน้อยกว่าเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสัญญาไม่เป็นธรรมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงมองว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจ” พล.ต.ต.ประสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพบว่ามีกระแสข่าวที่สร้างภาพลบต่อธุรกิจขายตรง และการตลาดแบบตรง ทำให้ธุรกิจเสื่อมเสีย ดังนั้น หากมีมาตรฐานวิชาชีพธุรกิจขายตรงเกิดขึ้น ก็จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ทาง สคบ.เองอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำตราสัญลักษณ์รับรองผู้ประกอบการที่มาจดทะเบียนถูกต้อง ก็จะเป็นการแสดงถึงความน่าเชื่อถือของธุรกิจนั้นๆ โดยคาดว่าภายในเดือนนี้น่าจะแล้วเสร็จ

สำหรับ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) ปี 2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้วนั้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้สะดวกมาขึ้น แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้ระบุให้ผู้ที่จะเข้ามาจดทะเบียนต่อ สคบ.จะต้องวางหลักประกัน โดยจะมีกฎกระทรวงเรื่องการวางหลักประกันตามมา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่กฎกระทรวงยังไม่ออกมา ทางกฤษฎีกาเห็นว่า สคบ.สามารถรับจดทะเบียนได้ก่อน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการจะต้องมาวางหลักประกันในภายหลังเมื่อกฎกระทรวงการวางหลักประกันมีผลบังคับใช้ ซึ่งการวางหลักประกันนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก หากไม่มีการวางหลักประกันก็อาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตได้

นอกจากนี้ยังจะมีกฎหมายลูกออกมารองรับในเรื่องการตลาดแบบตรงซึ่งเกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นลักษณะใดบ้างที่เข้าข่ายจะต้องมาจดทะเบียนต่อ สคบ. แต่กฎหมายดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และจะยกเว้นธุรกิจเอสเอ็มอี ตามกฎหมายเอสเอ็มอีที่มีอยู่ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์

ด้าน ดร.สมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย กล่าวในงานสัมมนาว่า สมาคมฯ ได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการจัดทำโครงการมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจค้าปลีก สาขาธุรกิจขายตรง เพื่อยกระดับอาชีพขายตรงให้มีความเป็นสากล มีระดับคุณวุฒิตามสมรรถนะในการทำงานที่ชัดเจน และแบ่งระดับอาชีพได้อย่างเป็นสากล อีกทั้ง ยังจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่วงการอาชีพขายตรง และสร้างความเชื่อถือแก่ผู้บริโภคในวงกว้าง

“ผู้ให้บริการซึ่งหมายถึงเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือนักธุรกิจอิสระที่เข้ามาเป็นแม่ข่ายและมีลูกข่ายเป็นของตัวเองนั้น หรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นโค้ช ให้ข้อมูลแก่สินค้านั้นๆ ควรจะมีความรับผิดชอบในระดับที่ต่างกันออกไป การมีมาตรฐานวิชาชีพก็จะเข้ามาช่วยกำหนดในเรื่องจรรยาบรรณ ทักษะ ความรู้ด้านต่างๆ ตามระดับที่พวกเขาเหล่านี้พึงจะมี ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าในอาชีพ สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคได้ว่าเขาจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ” ดร.สมชายกล่าว

รศ.ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้จัดการและที่ปรึกษาโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพฯ สาขาธุรกิจขายตรง กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจขายตรงไทย มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของไทยไม่น้อย โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 75,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบอาชีพขายตรง 1.2 ล้านคน แต่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนมากกว่า 10 ล้านคน

สำหรับการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพขายตรงนี้ก็เพื่อยกระดับผู้ประกอบอาชีพขายตรงให้มีมาตรฐานอาชีพที่น่าเชื่อถือได้ เป็นสากล มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ มีกฎระเบียบ กติกา เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางการขายตรงหลอกลวงผู้บริโภค และสามารถทำให้ผู้บริโภคแยกแยะได้สิ่งใดเรื่องจริงหรือหลอก อย่างไรก็ดี การจัดทำมาตรฐานอาชีพขายตรงนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จราวต้นปี 2562 และจะประกาศในพระราชกฤษฎีกาเพื่อถือปฏิบัติต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น