กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ลุ้นนโยบาย ก.พลังงานซื้อไฟชีวมวล
นอกจากนี้ กลุ่มฯ มีแผนขยายโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ และ อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ กำลังผลิตน้ำตาลแห่งละ 2.3 หมื่นตันต่อวัน ลงทุนแห่งละ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มที่ อ.ชำนะก่อนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อทำส่วนนี้เสร็จก็จะดำเนินงานในส่วนของ จ.สุรินทร์ต่อไป
“ทางกลุ่มกำลังศึกษาและวิจัยที่จะต่อยอดอุตฯ อ้อยและน้ำตาลไปสู่อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและรับกับเทรนด์ของโลกในการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ ส่วนเอทานอลนั้นยอมรับว่าเทรนด์โลกรถยนต์จะไปทางไฟฟ้าก็คงต้องดูให้ชัดเจนก่อนแต่ขณะนี้เราไม่ได้ทำ” นายอดิศักดิ์กล่าว
นายอำนาจ แก้วกล้า รองกรรมการผู้จัดการ บ.BEC กล่าวว่า กลุ่มโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ใน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตภาชนะจากชานอ้อย แยกสายการผลิตเป็นธุรกิจใหม่อีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง เงินลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2562 และตั้งเป้าหมายจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ช่วงต้นปี 2562 โดยเบื้องต้นมีแผนจำหน่ายในประเทศ 50% และส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป รวมถึงเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ อีก 50%
นางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และโรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโคเจเนอเรชัน จากการประกวด Thailand Energy Awards ปี 2017-2018 และ BEC ส่งประกวด ASEAN Renewable Energy Project Competition และคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทโคเจเนอเรชันในปี 60 ส่วน BPC เข้าร่วมประกวดปี 61 ซึ่งจะตัดสินการประกวดและมอบรางวัลในเดือน ต.ค. ที่ประเทศสิงคโปร์