xs
xsm
sm
md
lg

ทย.ซ้อมแผนเต็มรูปแบบกรณีเครื่องบินขัดข้อง ลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินบุรีรัมย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมท่าอากาศยานฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ (BEMEX 2018) ที่สนามบินบุรีรัมย์ กำหนดสถานการณ์สมมติเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องเครื่องบินขอลงจอดฉุกเฉิน มีทั้งผู้โดยสารบาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเป็นไปตามมาตรฐาน ICAO

นายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ในฐานะประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน กล่าวว่า การจัดฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินท่าอากาศยานเต็มรูปแบบ ประจำปี 2561 (BEMEX 2018) ของท่าอากาศยานบุรีรัมย์ โดยใช้สถานการณ์สมมติกรณีเครื่องบินขอลงจอดฉุกเฉินเนื่องจากเครื่องยนต์ขัดข้อง ซึ่งในวันที่ 19 มิถุนายน 2561 เป็นการบรรยายให้ความรู้เรื่องมาตรฐานการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน และฝึกซ้อมบนโต๊ะจำลองสถานการณ์ การเข้าร่วมฝึกของหน่วยต่างๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ และในวันที่ 20 มิถุนายน 2561 เป็นการฝึกซ้อมแผนตามสถานการณ์จริง โดยมี นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานการฝึกซ้อม

ในการนี้ได้กำหนดสถานการณ์สมมติกรณีท่าอากาศยานบุรีรัมย์ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่หอบังคับการบินบุรีรัมย์ แจ้งว่าสายการบินโอเคแอร์ Boeing 737-400 จากประเทศโอลาลา ปลายทางสนามบินบุรีรัมย์ เกิดเครื่องยนต์ขัดข้องขอลงจอดฉุกเฉิน ที่หัวทางวิ่ง 22 มีผู้โดยสารจำนวน 150 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 80 คน บาดเจ็บปานกลาง 50 คน บาดเจ็บสาหัส 15 คน เสียชีวิต 5 ราย โดยให้นำสถานการณ์สมมติมาประกาศใช้ในแผนฉุกเฉินและฝึกซ้อมเสมือนเกิดเหตุการณ์จริง

สำหรับการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ นั้น เป็นการนำแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยาน ซึ่งมีอยู่ทุกท่าอากาศยานตามมาตรฐานความปลอดภัย นำไปสู่วิธีการปฏิบัติ เพื่อเป็นการบูรณาการการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินท่าอากาศยานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ซึ่งการฝึกซ้อมในครั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน และตามมาตรฐานและข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ที่ระบุให้ท่าอากาศยานแต่ละแห่งจัดฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยานเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ยังจะทำให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน และทดสอบการสั่งการ การสื่อสาร และการประสานงานด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง ความชำนาญของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการประสานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยที่เกี่ยวข้องตามผังการแจ้งเหตุ ตลอดจนทดสอบการบูรณาการแผนฉุกเฉินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สายการบิน ผู้ประกอบการ หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่างๆ และหน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้องตามแผน

อีกทั้งยังเป็นการทดสอบความเพียงพอของทรัพยากรที่ใช้ในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน และการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการ ในมาตรการรักษาความปลอดภัย และความปลอดภัยของท่าอากาศยานอย่างสูงสุด ซึ่งภายหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินจะมีการประเมินผลการปฏิบัติและตรวจสอบข้อบกพร่องของแผนฉุกเฉิน ที่จะนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาเพื่อให้แผนฉุกเฉินท่าอากาศยานบุรีรัมย์มีความสมบูรณ์ รวมทั้งความพร้อมของท่าอากาศยานในการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น