xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ” กำชับเร่งใช้บัตรแมงมุมทุกระบบ แฉบีทีเอสยื้อร่วม คาดห่วงดอกเบี้ยเติมเงินแรบบิท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” แจกบัตรแมงมุม ครม.ก่อนเปิดตัว 22 มิ.ย. แจก 2 แสนใบ ประชาชนรับได้ที่สถานีสีม่วง ด้านรฟม.พร้อมผลิตเพิ่ม รอประเมินหลังเชื่อมกับรถเมล์ ต.ค.นี้ก่อน ยอมรับบีทีเอสยังไม่ร่วม มอบ “ไพรินทร์” เร่งรัด แฉบีทีเอสหวั่นเสียประโยชน์ดอกเบี้ยในบัตรแรบบิทกว่า 1 ล้านใบจากการที่ต้องเติมเงินเข้าไปทิ้งไว้ก่อน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (19 มิ.ย.) ได้รายงานความก้าวหน้าของระบบตั๋วร่วมต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมแจกบัตรแมงมุมต่อ ครม.ด้วย โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไดกำชับให้ขยายการใช้บัตรแมงมุมไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ โดยเร็ว ซึ่งในวันที่ 22 มิ.ย.นี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดตัวบัตรแมงมุมที่สถานีเตาปูน และทยอยแจกบัตรแมงมุมจำนวน 2 แสนใบ เริ่มใช้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.นี้ และในเดือน ต.ค. 2561 จะใช้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถ ขสมก. จำนวน 2,600 คันได้ ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้ได้เดือน ก.ค. 2561 กับรถไฟฟ้าสีน้ำเงินและสีม่วง

ในระยะที่ 2 รฟม.จะพัฒนาตั๋วร่วมเป็นแมงมุม 4.0 หรือบัตร EMV ที่รองรับบัตรเครดิต /เดบิต ( Master Card และ Visa Card) ภายในปี 2562

***บีทีเอสเล่นแง่ ยื้อปรับระบบรับบัตรแมงมุม
ส่วนกรณีที่รถไฟฟ้าบีทีเอสยังใช้ตั๋วร่วมไม่ได้นั้น นายอาคมกล่าวว่า บีทีเอสได้ร่วมลงนามใน MOU ความร่วมมือเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมกับ รฟม.ตั้งแต่ ต.ค. 2560 แต่การปรับปรุงระบบให้รองรับยังไม่เรียบร้อย ซึ่งได้มอบให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.ไปเร่งรัด ซึ่งบีทีเอสเป็นสัญญาเก่า เป็นภาคสมัครใจ ส่วนสายสีชมพูและเหลืองเป็นโครงการใหม่ที่ต้องมีระบบแมงมุม เรื่องนี้ต้องดูความสะดวกของผู้โดยสารเป็นหลัก การต่อตั๋วด้วยบัตรใบเดียวจะเป็นตัวกำหนดผู้โดยสารจะเลือกใช้ระบบใด ซึ่งขณะนี้มีธนาคารพร้อมจะออกบัตรที่มีชิปแมงมุมเป็นตั๋วร่วมทันทีอย่างน้อย 2 ล้านใบ และยังห้างสรรพสินค้า เซเว่นอีเลฟเว่น พร้อมจะร่วมในบัตรแมงมุมอีก ฐานลูกค้าจะกว้างมาก

“ปัจจุบันบัตรรถไฟฟ้า หรือบัตรทางด่วน Easy Pass, M Pass เป็นการเติมเงินเข้าไปก่อนจึงจะใช้ได้ ซึ่งเงินจะเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของผู้ให้บริการ ซึ่งตรงนี้เชิงธุรกิจจะมีดอกเบี้ย แต่อนาคตแมงมุม 4.0 ประชาชนไม่ต้องเติมเงินทิ้งไว้ในบัตร ใช้ระบบเมื่อไหร่ค่อยจ่ายหักบัญชีสะดวกกว่าแต่เงินในบัตรจะหายไป ปัจจุบันบีทีเอสมีผู้ใช้บริการ 7-8 แสนคน, สายสีน้ำเงินกว่า 3 แสนคน, สีม่วง 6 หมื่นคน, แอร์พอร์ตลิงก์ 7.5 หมื่นคน, รถเมล์ 2 ล้านคน” นายอาคมกล่าว

ด้าน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า หากบีทีเอสไม่ร่วมจะทำให้การต่อเชื่อมลำบาก เข้าใจว่าเพราะบัตรแรบบิทของบีทีเอสที่มีกว่า 1 ล้านใบเป็นบัตรเดบิตที่ต้องเติมเงินเข้าไปในบัตรก่อนใช้งาน มีวัตถุประสงค์อื่นๆ ด้วย อาจจะยังไม่อยากเปลี่ยนฟังก์ชันบัตร แต่เชื่อว่าอนาคตบีทีเอสต้องเปลี่ยนเพราะผู้ใช้บริการจะตัดสิน สุดท้ายคนไม่เข้าพวก ผู้โดยสารจะไม่เลือกใช้เอง

*** รฟม.ประเมินความต้องการก่อน พร้อมผลิตบัตรแมงมุมเพิ่ม
นายสมประสงค์ สัตยมัลลี ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจบัตรโดยสาร รฟม.กล่าวว่า บัตรแมงมุม 2 แสนใบจะเริ่มแจกวันที่ 22 มิ.ย.ที่สถานีเตาปูน 900 ใบ และเริ่มใช้ได้ในวันที่ 23 มิ.ย. 61 เป็นต้นไป จากนั้นจะกระจายแจกที่สถานีสายสีม่วงจนกว่าจะหมด และจะมีการประเมินความต้องการ เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้กับรถแอร์พอร์ตลิงก์และรถเมล์ได้ ซึ่งจะพิจารณาผลิตเพิ่มต่อไป

สำหรับบัตรแมงมุม แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บัตรบุคคลทั่วไป (สีน้ำเงิน) บัตรผู้สูงอายุ (สีทอง) และบัตรนักเรียน/นักศึกษา (สีเทา) สามารถติดต่อขอรับบัตรแมงมุมได้ที่สถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อขอรับบัตรแมงมุมได้ที่ห้องออกบัตรโดยสาร และเมื่อนำไปใช้ในระบบรถไฟฟ้า MRT จะต้องเติมเงินขั้นต่ำ 150 บาท โดยแบ่งเป็นค่ามัดจำบัตร 50 บาท และมูลค่าเงินสำหรับโดยสารรถไฟฟ้า 100 บาท ทั้งนี้ บัตรมีจำนวนจำกัด และจำกัดสิทธิ์ 1 คน/ใบ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รฟม.จะกระจายบัตรไปทุกสถานีของสายสีม่วง โดยกระจายตามปริมาณผู้โดยสารแต่ละสถานี จากนั้นจะประเมินความต้องการ ซึ่งคาดว่าหลังจากสามารถนำบัตรแมงมุมใช้กับรถเมล์ได้ในเดือน ต.ค.นี้คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น และหากมีความต้องการ รฟม.พร้อมที่จะผลิตบัตรแมงมุมเพิ่มในช่วงที่การพัฒนาเป็นบัตรแมงมุม 4.0 ยังไม่แล้วเสร็จ



กำลังโหลดความคิดเห็น