xs
xsm
sm
md
lg

ถึงยุคเลือก “หนัง-เวลา-สาขา” ดูเองได้แล้ว “เมเจอร์ฯ” งัดมูฟวีออนดีมานด์สนองหวังต่ออายุหนัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - “เมเจอร์ฯ” งัดกลยุทธ์ มูฟวีออนดีมานด์ ให้ลูกค้าเลือกหนัง เวลาฉาย และสาขาได้เอง ต้องลุ้น 100 โหวตจึงจะได้ มั่นใจตลาดนี้มีมาก จากเหตุคนพลาดหวังรอบปกติ ชี้อัตราชมเฉลี่ย 50% สูงกว่ารอบปกติ ตั้งเป้าถึงสิ้นปีนี้ขายตั๋วมูฟวีออนดีมานด์ได้ 1 ล้านใบ

นายนรุตม์ เจียรสนอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ที่เรียกว่า มูฟวีออนดีมานด์ (Movie on Demand) หรือทางเลือกให้แก่ลูกค้าที่สามารถเลือกวัน เวลา สาขา และหนังในการชมที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ฯ เองได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งความต้องการแบบนี้ถือว่ามีอยู่จริงและเป็นตลาดกลุ่มใหญ่พอสมควร

เนื่องจากปัจจุบันนี้อายุหนังที่ฉายในโรงหนังสั้นมากเฉลี่ย 2 สัปดาห์ต่อเรื่องเท่านั้น หรือถ้าหากหนังฟอร์มใหญ่ก็อาจจะ 1 เดือน ทำให้ยังมีตลาดอีกมากที่ไม่ได้มาชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว
นายนรุตม์ เจียรสนอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
กลยุทธ์นี้ถือเป็นการทำตลาดครั้งแรกในไทยและในเอเชีย ที่จะเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ชมหนังที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นหนังเพิ่งออกจากโรงหรือหนังนานแล้ว โดยลูกค้าจะต้องโหวตเรื่องและเวลาและสาขาที่ต้องการชม ผ่านเว็บไซต์จากช่องทางคอมพิวเตอร์หรือมือถือก็ได้ และจะปิดโหวตก่อนล่วงหน้า 4 วันเพื่อดูผลโหวตก่อน ซึ่งหากมีผลโหวตเกิน 100 เสียงต่อเรื่องต่อรอบที่ต้องการนั้นก็จะเปิดบริการ แม้ว่าจะมีลูกค้ามาซื้อตั๋วหนังดูจริงไม่ถึง 100 คนหรือมีแค่ 1 คนที่ซื้อตั๋วหนังก็จะฉาย

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทดลองมาประมาณ 8 เดือนแล้ว จาก 8 สาขา มีหนังฉายเพียง 1 เรื่อง ต่อ 1 รอบ ต่อ 1 สาขา พบว่าได้รับการตอบรับดี รวมประมาณ 6,400 ที่นั่ง หรือมีอัตราการเข้าชมเฉลี่ย 50% ต่อรอบต่อเรื่อง ขณะที่ในการฉายปกติมีอัตราการเข้าชมเฉลี่ยที่ 30-40% เท่านั้น จากจำนวนเฉลี่ย 200 ที่นั่งต่อโรง ส่วนราคาตั๋วหนังนั้นจะใช้ราคาที่ถูกที่สุดของวันจันทร์ในสาขานั้นมาเป็นตัวขาย เช่น สาขาทั่วไปประมาณ 150 บาท ส่วนที่พารากอน เฉลี่ย 220 บาท
นายนรุตม์ เจียรสนอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
บริษัทฯ เตรียมเปิดบริการเป็นทางการในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ใน 24 สาขา แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 17 สาขา เช่น พารากอน, เมกาซีนีเพล็กซ์, เอสพลานาดรัชดาภิเษก และงามวงศ์วาน, ซีคอน เป็นต้น และต่างจังหวัด 7 สาขา เช่น โคราช, หาดใหญ่, อุบลราชธานี เป็นต้น และมีภาพยนตร์เตรียมไว้ 50 เรื่องในเฟสแรกนี้ไว้บริการ ซึ่งเมื่อหนังออกจากโรงหนังแล้วจะมีระยะเวลานาน 30 วันก่อนที่จะไปฉายในแพลตฟอร์มอื่นตามที่สตูดิโอค่ายหนังกำหนดไว้ ทำให้เป็นช่องว่างที่เราจะสามารถบริการได้ เพราะมีสิทธิ์จากค่ายหนังอยู่แล้ว ตั้งเป้าถึงสิ้นปีนี้จะมีลูกค้าเข้าชมมูฟวีออนดีมานด์ 1 ล้านคน

ส่วนเฟสที่สองจะเริ่มเดือนตุลาคม จะมีการอัปเกรดแอปฯ ของเมเจอร์ฯ และจะมีการทำร่วมกับบัตรเมเจอร์มูฟวีพลัส และมีหนังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนเฟสที่สามจะเริ่มสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ จะมีการนำบิ๊กดาต้า และเอไอเข้ามาร่วมพัฒนาด้วย
นายนรุตม์ เจียรสนอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
“ปัญหาหลักของธุรกิจนี้คือ เรื่องของเวลาและความต้องการของลูกค้าที่อาจจะยังไม่สอดคล้องกัน ที่ผ่านมาอาจจะติดปัญหาเรื่องเวลา แม้ว่าเราจะมีรอบฉายและจำนวนฉายมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองได้ทั้งหมด บางคนไม่สะดวกมาดู หรือไม่มีรอบตามที่ต้องการก็พลาดไป หรือหนังเรื่องที่ออกโรงไปแล้วบางเรื่องก็ยังไม่ได้ดูแต่ยังมีความต้องการอยู่ จึงต้องทำตลาดแบบนี้เพื่อตอบสนอง และขยายฐานกลุ่มลูกค้าไปด้วย อีกทั้งเพิ่มอัตราเข้าชมหนังได้ด้วย และเราก็แบ่งรายได้ให้กับค่ายหนังเหมือนเดิม ซึ่งเจ้าของหนังก็ยินดี ซึ่งการทำตลาดและเซกเมนต์เช่นนี้ตอบโจทย์นี้ได้ดี” นายนรุตม์กล่าว

เมเจอร์ฯ มีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน เป็นต้น ปัจจุบันเมเจอร์ฯ ได้เพิ่มในส่วนของกลุ่มเด็กและกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นด้วย เมเจอร์ฯ มีฐานกลุ่มสมาชิกบัตรเอ็ม เจเนอเรชัน รวม 4,496,403 ราย แยกตามกลุ่มดังนื้ คือ กลุ่มลูกค้าทั่วไป อายุ 24-60 ปี จำนวน 2,236,647 ราย, กลุ่มนักเรียน นักศึกษา อายุ 13-23 ปี จำนวน 1,785,015 ราย, กลุ่มเด็ก อายุต่ำกว่า 13 ปี จำนวน 282,235 ราย และกลุ่มผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปี จำนวน 102,506 ราย

ทั้งนี้ ปี 2561 เมเจอร์ฯ ตั้งเป้าหมายขายตั๋วหนังไว้ประมาณ 34 ล้านใบ เพิ่มจากปีที่แล้วทำได้ประมาณ 32 ล้านใบ โดยมีสัดส่วนซื้อตั๋วหนังผ่านแอปพลิเคชันหรือที่บ็อกซ์ออฟฟิศประมาณ 10% ส่วน 90% ยังมาจากบ็อกซ์ออฟฟิศหน้าโรงหนัง


กำลังโหลดความคิดเห็น