รฟม.เคลียร์ทล. เคาะแบบ พร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง รถไฟฟ้า”ชมพู-เหลือง”เตรียมส่งหนังสือแจ้งกลุ่ม BSR เข้าพื้นที่เริ่มตอกเข็ม 29 มิ.ย.นี้ ส่วนกทม.เหลือสรุปตำแหน่งทางลอดอุดมสุข ยอมรับล่าช้าอย่างน้อย 3 เดือน เปิดบริการต.ค. 64 ขณะที่ส่วนต่อขยายเพิ่มเติม เข้าเมืองทอง และรัชโยธิน คาดศึกษาวิเคราะห์จบในปีนี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน และอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการ ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรมทางหลวง (ทล.) ว่า ความร่วมมือนี้เป็นไปตามนโยบาย one transport ซึ่งการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่ง การก่อสร้างในพื้นที่เขตทางของ ทล.จะต้องไม่รบกวนผิวจราจรและทางเท้ามาก ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานได้หารือการออกแบบรายละเอียด เพื่อจัดสรรการใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้าง และทล.สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ รฟม.ได้100%
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ขอบเขตของพื้นที่สำหรับก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะเป็นแนวถนนติวานนท์ –แจ้งวัฒนะ-หลักสี่-รามอินทรา ส่วนสายสีเหลือง จะอยู่บนถนนศรีนครินทร์ประมาณ 2 กม.เศษ และ จุดจอดแล้วจร (Park & Ride ) ถึงบริเวณแยกเทพารักษ์ โดยได้มอบความรับผิดชอบในการก่อสร้างให้ รฟม. และได้มีการปรับแบบในบางส่วนเพื่อให้เหมาะสม เช่น สายสีชมพู ปรับแบบระยะห่างเสาตอม่อโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า บริเวณจุดกลับรถ บนถนนติวานนท์ ประมาณ10 จุด จากเดิมระยะห่าง 30 เมตร เป็น 40 เมตร เพื่อให้รถกลับสะดวกไม่กีดขวางรถทางตรงและเพื่อความปลอดภัย และปรับลดความกว้างทางเท้าให้เหลือไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร เพื่อเบี่ยงจราจร หลักการคือจะต้องมีจำนวนช่องจราจรเท่าเดิม
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า ในวันที่ 13 มิ.ย. รฟม.จะทำหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ไปยังกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR Joint Venture (BTS บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC) โดยจะแจ้งล่วงหน้า 15 วัน เท่ากับเริ่มต้นก่อสร้างในวันที่ 29 มิ.ย.2561 โดยมีเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (39เดือน) ยอมรับว่าขณะนี้การเข้าพื้นที่ล่าช้ากว่าแผน ประมาณ 3 เดือนกำหนดเปิดให้บริการสายสีชมพูและเหลืองในเดือนต.ค. 2564
“หลังจากนี้ จะเร่งคุยกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อสรุปการใช้พื้นที่ซึ่ง เหลือเพียงการยืนยันตำแหน่งทางลอด บริเวณอุดมสุข คาดว่าจะจบสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ นอกจากนี้ จุดที่ผู้โดยสาร ขึ้นลงสถานีแต่ละแห่ง จะมีการกั้นรั้วขอบเขตทางเข้าออกเพื่อไม่ให้กีดขวางจราจรบนถนน นอกจากนี้ รฟม.ยังมีคณะกรรมการดูแลความปลอดภัยการก่อสร้าง ( Safety Board) กำกับเพื่อความปลอดภัยสูงสุดด้วย”
ส่วนข้อเสนอส่วนต่อขยาย เพิ่มเติม ทั้ง2สาย คือ ช่วงต่อขยายสายสีชมพู เข้าโครงการเมืองทองธานี อีก 2สถานี ระยะทาง2.8 กิโลเมตร และช่วงต่อขยายสายสีเหลือง โดยการเชื่อต่อไปตามถนนรัชดาภิเษกไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว บริเวณแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร อีก 2สถานี ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า อยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์โครงการ คาดว่าจะสรุปได้ในปีนี้ เนื่องจากเป็นส่วนเพิ่มที่ไม่อยู่ในแผนแม่บท ดังนั้นต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยและเสนอตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 และเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ขออนุมัติก่อน
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 46,643 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 45,797 ล้านบาท