“อสมท” เบรกสัญญาโครงข่ายฯ สปริงนิวส์ หลัง กสทช.เห็นชอบสั่งยุติสัญญาณ 16 มิ.ย.นี้ เหตุไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ชี้มาตรการประคองทีวีดิจิทัลของ กสทช.ควรทำให้ชัดเจนและยั่งยืน
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อสมท เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลแก่บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ซึ่งได้ทำสัญญาร่วมกันตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาสปริงนิวส์ได้ค้างชำระค่าเช่าใช้บริการโครงข่ายฯ ตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเงิน กว่า 104 ล้านบาท (รวมค่าปรับตามสัญญาและดอกเบี้ย ตามกฎหมาย : ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 61) ที่ผ่านมา อสมท ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้เป็นระยะเวลานานแล้วและสปริงนิวส์ได้ขอขยายเวลาชำระเงินเรื่อยมา โดยอ้างว่าบริษัทอยู่ในช่วงวางแผนเพิ่มทุนและจะทยอยผ่อนชำระหนี้ค่าใช้บริการ แต่สปริงนิวส์ก็ไม่ได้ชำระแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการ บมจ อสมท พิจารณาแล้วเห็นว่า หาก อสมท และ กสทช.ไม่พิจารณาดำเนินการใดๆ จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐและอาจถูกร้องในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ อสมท จึงได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กสทช. เพื่อยุติการให้บริการ โดยคณะกรรมการ กสทช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2561 เห็นชอบการยุติให้บริการตามสัญญาให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ระหว่าง อสมท และสปริงนิวส์แล้ว โดย อสมท จะดำเนินการยุติการให้บริการโครงข่ายฯ แก่สปริงนิวส์ ในวันที่ 16 มิ.ย. 2561ทันที
ทั้งนี้ ทาง อสมท ได้มีหนังสือถึงบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เรื่องแจ้งเลิกสัญญาและยุติการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสปริงนิวส์ได้เสนอแนวทางขอผ่อนชำระต่อเนื่อง แต่เนื่องจากหนี้สินดังกล่าวค้างชำระมาตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการค้างที่นานเกินกำหนดระยะเวลา ทำให้คณะกรรมการและฝ่ายบริหาร ต้องปกป้องผลประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยการบอกยกเลิกสัญญา
“การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทั้งระบบขยายตัวและแข็งแรงอยู่รอดได้ รัฐควรส่งเสริมด้านการผลิต content ให้มีต้นทุนต่ำ โดยช่วยเหลือด้านภาษีหรือสิทธิอื่นๆ การสนับสนุนให้เปิดตลาดเพื่อการส่งออก content, การดำเนินการทำ Mux pool เป็นโครงข่ายเดียว เพื่อให้โครงข่ายการออกอากาศได้มีต้นทุนต่ำลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิทัลมีต้นทุนต่ำลงไปด้วยในระยะยาว ส่วนการสนับสนุนระยะสั้นในการชดเชย 50% ของค่าใช้จ่าย โครงข่าย ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการแก้ไขให้ถูกจุด เพื่อให้ประชาชนผู้ชมได้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย” นายเขมทัตต์กล่าวสรุป