xs
xsm
sm
md
lg

“เอ็มเค”ผนึก”เซนโค”ลุยโลจิสติกส์ เล็งเทคโอเวอร์แบรนด์อื่นเสริมพอร์ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) ฮิโรชิ ยามาโมโตะ, สมชาย หาญจิตต์เกษม และ พงษ์ชัย พิพิธวิจิตรกร
ผู้จัดการรายวัน360- “เอ็มเคกรุ๊ป” แตกไลน์ธุรกิจ ผนึกยักษ์โลจิสติกส์ญี่ปุ่น “เซนโค” ร่วมทุนตั้งบริษัทลุยโลจิสติกส์ในไทย ทุ่มงบก้อนแรก 1,500 ล้านบาท คาดบริการกได้ปีหน้า สยายปีกรับงานนอกเครือ คาดรายได้ 3 ปีแรก 1,800 ล้านบาทต่อปี ด้านภาพรวมเอ็มเคกรุ๊ป ปีนี้ทุ่มอีก 600 ล้านบาท ลุยขยายเครือข่าย ดันรายได้รวมโต 7%



นายสมชาย หาญจิตต์เกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ร่วมทุนกับทางบริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทด้านโลจิสติกส์รายใหญ่อันดับที่สองของญี่ปุ่นเพื่อจัดตังบริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด ในประเทศไทย ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท โดยถือหุ้นฝ่ายละ 50% เพื่อดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ แบบครบวงจรในไทย รองรับการบริการทังในเครือเอ็มเคเอง และนอกเครือ ตั้งเป้าหมายสัดส่วน บริการลูกค้านนอกเครือ 75% และในเครือ 25% ในอนาคต
 สมชาย หาญจิตต์เกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (2)
สำหรับการบริการดังประกอบด้วย การให้บริการคลังสินค้าหรือแวร์เฮาส์, การขนส่งหรือทรานสปอร์ต, การบริการนำเข้าและส่งออกสินค้าหรือฟอรเวิร์ดดิ้ง และ การซื้อขายสินค้าหรือเทรดดิ้ง โดยเน้นไปที่การบริการส่งสินค้าแบบเย็นหรือโคลด์เชน อย่างครบวงจร

“เรามองโลจิสติกส์เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและมีการเติบโตที่ดี ทุกธุรกิจ้องใช้ระบบโลจิสติกส์ และเราเองก็มีร้านอาหารในเครือมากมายหลายสาขา จำเป็นต้องใช้โลจิสติกส์อยู่แล้ว จากนี้เราก็จะเอาทีมโลจิสติกส์เดิมของเรามาทำในบริษัทร่วมทุนใหม่นี้ ช่วงแรกนี้จะเน้นให้บริการกับเครือเอ็มเคเป็นหลักก่อน และนอกเครือเป็นรองเช่น กลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจ ร้านอาหารที่เป็นเชนรายใหญ่ รายเล็ก ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ ธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท เป็นต้น ซึงในญี่ปุ่น ทางเซนโค ก็ให้บริการหลากหลายแบรนด์ เช่น ดองกีโฮเต้ อิออน แฟมิลี่มาร์ท เป็นต้น อยู่แล้ว จึงมีความเข้าใจระบบลูกค้าเป็นอย่างดี” นายสมชาย กล่าว
พงษ์ชัย พิพิธวิจิตรกร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด (2)
เบื้องต้นตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 1,500 ล้านบาท แยกเป็น งบ 1,000 ล้านบาท ลงทุนแวร์เฮาส์ที่ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 21 และงบอีก 300 ล้านบาท ลงทุนด้านรถขนส่งเย็น และงบอีก 200 ล้านบาท ลงทุนด้านดรายแวร์เฮาส์อีก ซึ่งพื้นที่แวร์เฮาส์มีประมาณ 33 ไร่ ใกล้กับครัวกลางเดิมของเอ็มเคสุกี้ โดยคาดหวังรายได้รวมปีหน้า 800 ล้านบาท และในอีก 3 ปีหน้าประมาณ 1,800 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าจะเปิดบริการเต็มรูปแบบได้ประมาณเดือนสิงหาคมปีหน้า

นายสมชาย กล่าวต่อถึงภาพรวมเอ็มเคกรุ๊ป ด้วยว่า ในปีนี้(2561) จะลงทุนรวมประมาณ 600 ล้านบาท ขยายสาขารวมทุกแบรนด์ประมาณ 49 สาขา เน้นไปที่ แบรนด์ยาโยอิ ประมาณ 30 สาขา และเอ็มเคสุกี้ประมาณ 18-19 สาขา เพิ่มจากปีที่แล้วที่เปิดรวม 30 กว่าสาขาเท่านั้น ลงทุนรวม 300 กว่าล้านบาทเท่านั้น ตั้งเป้ายอดรายได้รวมปีนี้โต 7% จากปีที่แล้วที่รายได้รวมประมาณ 16,000 ล้านบาท เติบโต 5% ส่วนกำไรเติบโต 10% ซึ่งไตรมาสแรกปีนี้รายได้เติบโตแล้ว 4% เนื่องจากกำลังซื้อที่ดีขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มดึขึ้น ปัจจุบันมีร้านเอ็มเคสุกี้ประมาณ 426 สาขา และร้านยาโยอิประมาณ 100 กว่าสาขา นอกนั้นก็มีแบรนด์ในเครืออีกเช่น ฮากาตะ เป็นต้น

“เราเองก็สร้างโอกาสธุรกิจด้วยการหาแบรนด์ใหม่ต่อเนื่องทั้งการพัฒนาเอง และการขอไลเซ่นส์และการซื้อธุรกิจ เพราะถึงวันหนึ่งแบรนด์เก่าก็ต้องอิ่มตัว ที่ผ่านมามีการเจรจามีการคุยหลายราย แต่ราคาสูงไป แต่ตอนนี้ยังไม่มีการสรุปซื้อแบรนด์ใด ” นายสมชาย กล่าว
ฮิโรชิ ยามาโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ (จำกัด) (1)
นายฮิโรชิ ยามาโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์รายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศญี่ปุ่น มีจุดแข็งและองค์ความรู้เกี่ยวกับบริการโลจิสติกส์แบบห้องเย็นเพื่อส่งสินค้ามายาวนานกว่า 100 ปี มีธุรกิจกระจายอยู่ในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ จีน เอเชียกลาง และอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยไทยและเมียนมา
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น บริษัทมีเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ทุกรูปแบบกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันมีรายได้กว่า 103,000 ล้านบาท จึงเชื่อมั่นว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ภายใน 3-5 ปี เอ็ม-เซนโค จะเติมเต็มความต้องการของตลาดและลูกค้าให้ครบวงจรยิ่งขึ้น เพื่อเป็น One-stop Service ด้วยการขยายบริการสู่คลังสินค้าแห้ง (Dry warehouse) รวมถึงขยายธุรกิจไปยังตลาดภูมิภาคอาเซียน ในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) และพัฒนารูปแบบการบริการเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภครายย่อย (B-2-C) ในอนาคต”


กำลังโหลดความคิดเห็น