xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมรถไฟไทย-จีน จ่อเคาะประมูลตอน 2 และเร่งสรุปกรอบลงทุนต่อถึงหนองคาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 24 เตรียมสรุปแบบก่อสร้างตอนที่ 2 ร.ฟ.ท.เร่งประมูลในเดือน ส.ค. ส่วนสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และตัวรถ) เคลียร์เทคนิค และเงินกู้ ขีดเส้นจบใน ต.ค.นี้ พร้อมเร่งจีนส่งการศึกษา ประเมินกรอบวงเงินเฟส 2 โคราช-หนองคาย เพื่อเร่งชง ครม.อนุมัติ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน ว่า คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนจะประชุมครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย. ที่ประเทศไทย เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท โดยขณะนี้จีนอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ซึ่งกำหนดให้ส่งภายในต้นเดือน มิ.ย. หากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ตรวจสอบแล้วหากไม่มีข้อท้วงติงเพิ่มเติมจะเป็นขั้นตอนการประมูล คือ ถอดราคาเพื่อกำหนดราคากลางและกำหนดทีโออาร์ โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน ส.ค.

ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้จีนจะต้องส่งแบบรายละเอียดที่สมบูรณ์ (Detail & Design) ของ ตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. ซึ่งมีอุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคองด้วย และส่งแบบฉบับร่างของตอนที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กม.เพื่อให้ ร.ฟ.ท.ตรวจสอบ และกำหนดให้ส่งแบบสมบูรณ์ของตอนที่ 4 ในเดือน ส.ค.นี้

นอกจากนี้ จะติดตามสัญญาที่ 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร) ในรายละเอียดของตัวรถ ระบบไฟฟ้า และสิ่งที่อยู่เหนือรางทั้งหมด พร้อมรายละเอียดในส่วนของเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยของจีน ซึ่งที่ผ่านมายังมีอัตราที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ในส่วนของเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางประมาณ 355 กม. ซึ่งให้จีนประมาณการกรอบวงเงินโครงการเพื่อเป็นข้อมูลเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในเฟส 2 มีประเด็นช่วงสะพานข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นจะให้จีนช่วยออกแบบ โดยจะพิจารณาในส่วนของจุดก่อสร้างที่เหมาะสม และฝ่ายไทยเสนอให้มีระบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางขนาด 1.435 เมตร บนสะพานใหม่ เพื่อให้มีจุดเปลี่ยนถ่ายที่เดียวบริเวณสถานีนาทา ขณะที่จีนให้ความเห็นว่า บนสะพานใหม่ควรมีรางขนาด 1.435 เมตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเด็นนี้จะต้องมีการหารือ 3 ฝ่าย คือ ไทย-ลาว-จีน ต่อไป

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การตรวจสอบแบบของตอนที่ 2, 3, 4 นั้น ฝ่ายก่อสร้าง ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการมีความก้าวหน้ามากแล้ว ขณะที่จะต้องเร่งเจรจาเงื่อนไขรายละเอียดของสัญญา 2.3 ซึ่งตามไทม์ไลน์จะหารือให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ต.ค. 61 นี้

สำหรับรถไฟความเร็ว เฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีวงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 13,069.60 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 122,593.92 ล้านบาท ซึ่งตลอดระยะทาง 252.35 กิโลเมตรจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 14 สัญญา นอกจากนี้ ยังมีค่างานระบบไฟฟ้า (M&E) 34,078.38 ล้านบาท จัดหาตู้รถไฟ 4,480 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 5,190.31 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น