สนข. ศึกษาแผนแม่บท พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านคมนาคมขนส่งสำหรับทุกคน สร้างความเท่าเทียมในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และรองรับประเทศไทยที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี 2564
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข. ได้ดำเนินการโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับทุกคน โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ระยะเวลาดำเนินการศึกษา 12 เดือน (มี.ค. 2561 - มี.ค. 2562) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาสู่ “ระบบขนส่งที่เสมอภาคและเท่าเทียม” (Inclusive Transport) และระบบขนส่งสำหรับทุกคน (Transport for All) ซึ่งในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับจำนวนผู้พิการที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ให้ความสำคัญโดยบัญญัติให้ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียม รวมทั้งสอดคล้องและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 ที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของคนและสร้างโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางสังคม กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดทำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพ การบริการในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ครอบคลุมมิติการพัฒนาการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านนโยบายและข้อกฎหมาย 2) ด้านการพัฒนาโครงสร้างกายภาพของสถานที่ให้บริการภาคขนส่ง 3) ด้านการพัฒนาบุคลากรที่ออกแบบและให้บริการ และ 4) ด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
สำหรับขอบเขตการดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บท การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับทุกคน ประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้
1) การรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปผลข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการจัดทำแผนแม่บทฯ ประกอบด้วย การรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิ
2) การศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน โดยการวิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิ เพื่อจัดทำแผนฯ ซึ่งจะนำไปสู่กรอบชี้นำการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงสร้างพื้นฐานและการบริการภาคการขนส่งให้ครอบคลุมทั้งประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
3) การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการศึกษา การประชาสัมพันธ์ และ การมีส่วนร่วมของประชากร การจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นฯ การจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ / ผลการศึกษาโครงการ และการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายฯ เช่น การประกวดแบบ และคัดเลือกพื้นที่ ในการออกแบบปรับปรุงอาคารสถานที่หรือสถานีขนส่ง 4 ภูมิภาค
4) การพัฒนาความรู้ ความเชี่ยวชาญทางวิชาการฯ จัดการอบรมหลักสูตรความรู้ด้านการออกแบบตรวจสอบและประเมินผลฯ และหลักสูตรการอบรมทักษะการบริการ ให้กับบุคลากร ภาคการขนส่ง