xs
xsm
sm
md
lg

ทย.จับมือไปรษณีย์ไทย เพิ่มมาตรฐานปลอดภัยขนส่งสินค้าทางเครื่องบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมท่าอากาศยาน จับมือ ไปรษณีย์ไทย ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการขนส่งสิ่งของทางเครื่องบิน และตั้งเครื่องไปรษณีย์อัตโนมัติสนามบินภูมิภาค 7 แห่ง เพิ่มความสะดวกผู้โดยสารกรณีสิ่งของไม่ผ่านการเอกซเรย์

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยภายหลังลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) วันนี้ (15 พ.ค.) ว่า เป็นการพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านการรักษาความปลอดภัยการส่งสิ่งของทางไปรษณีย์รวมถึงนวัตกรรมที่ใช้ในขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อยกระดับการให้บริการ และลดระยะเวลาการนำสิ่งของขึ้นบนอากาศยาน โดยเบื้องต้นไปรษณีย์ไทยจะติดตั้งเครื่องบริการไปรษณีย์อัตโนมัติ (Automated Postal Machine : APM) เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่มาใช้บริการ ณ ท่าอากาศยาน ภายใต้สังกัดกรมท่าอากาศยาน โดยจะเป็นการอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาแนวทางปฏิบัติ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์การดำเนินงาน และพัฒนาการทำงานร่วมกัน ในการตรวจสอบพัสดุผ่านสนามบินให้มีมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และส่งเสริมการกระจายสินค้าโอทอปเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจกับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทุกสนามบินของ ทย.จะมีพื้นที่สำหรับสินค้าโอทอปอยู่แล้ว

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจการขนส่งสิ่งของมีการแข่งขันสูง ดังนั้น ต้องมีความร่วมมือกับผู้ที่มีจุดแข็งเพราะเสริมประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยก่อนหน้านี้ไปรษณีย์ไทยเคยมีบริการขนส่งทางอากาศ แต่เนื่องจากมีมาตรการด้านความปลอดภัยจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในการขนส่งสิ่งของทางเครื่องบิน ซึ่งกรมท่าอากาศยานจะช่วยในการเรียนรู้ด้านกฎระเบียบต่างๆ ตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยอยู่ระหว่างศึกษาในการพัฒนาขึ้นเป็น RA : Regulated Authority ในการควบคุมการปฏิบัติตามกฎระเบียบการขนส่งสิ่งของขึ้นเครื่องบิน จากเดิมที่ต้องใช้บริการบริษัทเอกชน เมื่อจะเป็นการบริการแบบเบ็ดเสร็จและควบคุมได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นเรื่องขออนุมัติไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเพื่อดำเนินการที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ ปัจจุบันการขนส่งสิ่งของมีการเติบโตสูงต่อเนื่องหลายปี โดยเฉพาะประเภทกล่อง เนื่องจากการค้าทางออนไลน์มีการเติบโตอย่างมาก โดยในปี 2560 มีรายได้รวมประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2561 ตั้งเป้าที่ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยมีปริมาณการขนส่งเฉลี่ย 8 ล้านชิ้นต่อวัน มีสัดส่วนรายได้จากการขนส่งประเภทกล่องประมาณ 44% ประเภทซอง 37%

อย่างไรก็ตาม การขนส่งจะเน้นทางรถเป็นหลัก ซึ่งการขนส่งสิ่งของนั้นปัจจัยสำคัญคือการบริหารจัดการกระบวนการภายใน ว่าจะต้องมีความตรงต่อเวลา ขนส่งได้ตามที่ตกลงกับลูกค้า สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่เสียหาย ส่วนประเภทของการขนส่งสิ่งของนั้นจะเป็นไปตามระยะทางและระยะเวลาที่ต้องการจัดส่ง ซึ่งจุดแข็งของไปรษณีย์ไทยคือการมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ มีจุดรับส่งที่กระจายทุกพื้นที่ บริการได้ทุกรูปแบบ และจะสร้างศูนย์ไปรษณีย์เพิ่มเติมในปีนี้อีกหลายจุด เช่น สกลนคร, เชียงราย, วังน้อย

สำหรับการติดตั้งเครื่องบริการไปรษณีย์อัตโนมัติ (APM) นั้น ในปีนี้จะติดตั้งในสนามบินของกรมท่าอากาศยาน 7 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ (2 เครื่อง), นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี (2 เครื่อง), ขอนแก่น, อุบลราชธานี และแม่สอด จ.ตาก และภายในปี 2562 จะติดตั้งเพิ่มเติมอีก 10 แห่ง

ส่วนเครื่อง APM ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งได้ติดตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 บริเวณชั้น 4 ผู้โดยสารขาออก มีอยู่ 2 จุด ได้แก่ หน้าพื้นที่ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ (Zone 2) และบริเวณท้ายแถว Row D MTB ฝั่งทิศตะวันออก ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่โดยสารเครื่องบิน และมีสิ่งของที่ไม่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องบินได้ เช่น ของเหลวเกิน 100 มิลลิลิตร ของมีคมต่างๆ เช่น มีดพก กรรไกร มีรายได้ประมาณ 1 หมื่นบาทต่อเดือนต่อตู้ ซึ่งยังมีผู้ใช้ไม่มากเนื่องจาก มีปัญหาจุดที่ตั้งอาจจะยังไม่สะดวกในการใช้งาน


กำลังโหลดความคิดเห็น