ผลการสำรวจดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลกประจำปี 2018 (The Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2018) ระบุว่า ประเทศไทยขยับขึ้นสองอันดับมาอยู่ที่อันดับที่ 16 ในการสำรวจทั้งสิ้น 130 ประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศที่ไม่ไช่มุสลิม สืบเนื่องจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของไทยที่พยายามเพิ่มจำนวนร้านอาหารฮาลาลและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวมุสลิม
มาเลเซียและสิงคโปร์ยังคงครองความเป็นประเทศยอดนิยมอันดับต้นๆ ของตลาดท่องเที่ยวของชาวมุสลิมที่มีมูลค่าถึงกว่า 6,900 ล้านล้านบาท (220 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีประเทศคู่แข่งสำคัญหลายประเทศพยายามไล่ตามติด ทั้งนี้เป็นรายงานผลการสำรวจชั้นนำของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว
สำหรับกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-OIC) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ของจุดหมายปลายทางสำหรับชาวมุสลิม และผลการสำรวจยังพบว่าประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ได้เข้ามาอยู่ใน 5 อันดับแรกของแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้เริ่มทำการสำรวจเป็นต้นมา
ผลการสำรวจ GMIT 2018 ซึ่งสำรวจประเทศจุดหมายปลายทางทั้งสิ้น 130 ประเทศทั่วโลกทั้งประเทศมุสลิมและประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (OIC และ Non-OIC) ระบุว่า ประเทศมาเลเซียอยู่ในอันดับ 1 ส่วนประเทศอินโดนีเซีย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีจนก้าว ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 2 ร่วมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
หลายประเทศในเอเชียมีการปรับอันดับดีขึ้นเป็นผลจากการปรับปรุงการให้บริการ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจชี้ว่าหลายประเทศยังไม่ได้นำสื่อดิจิทัลมาใช้มากเท่าที่ควร
ผลการสำรวจตามดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมโลกในปีนี้ ได้มีการประกาศผลสำรวจอย่างเป็นทางการไปแล้วที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยได้ชี้ให้เห็นว่าตลาดการท่องเที่ยวชาวมุสลิมยังคงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนอยู่ที่ 6,900 ล้านล้านบาท (220 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายในปี พ.ศ. 2563 และขยับขึ้นไปถึงกว่า 9,500 ล้านล้านบาท (300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายในปี พ.ศ. 2569
ในปี พ.ศ. 2560 พบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจำนวนประมาณ 131 ล้านคน เดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากจำนวน 121 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2559 และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 156 ล้านคนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือร้อยละ 10 ของธุรกิจท่องเที่ยว สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเดินทางมาเยือนถึง 3 ล้าน 6 แสนคน หรือเกือบร้อยละ 10 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยในปีนั้น
"เราเริ่มเห็นผลจากการที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกลงทุนปรับปรุงและความทุ่มเทเพื่อพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวสำหรับชาวมุสลิมจนมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดและการขยับอันดับ ตัวอย่างของประเทศที่ร่วมมือกันจนประสบความสำเร็จด้วยดีคือ ประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งนำข้อมูลจากผลการสำรวจในปีที่ผ่านมามาใช้พัฒนาการท่องเที่ยวจนสามารถขยับเข้าใกล้อันดับต้นๆ ได้ดี" นายฟาไซ บาฮาร์ดีน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท CrescentRating และ HaralTrip กล่าว
"ในปีนี้เราได้มีการปรับปรุงตัวชี้วัดในการสำรวจให้สามารถสะท้อนถึงกลยุทธที่ประเทศจุดหมายปลายทางใช้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมทำให้เห็นการพัฒนาของประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ เรายังได้เผยผลสำรวจ CrescentRating Growth & Innovation Model เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธที่จำเป็น รวมถึงการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองการท่องเที่ยวของกลุ่มนี้ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว" นายบาฮาดีนกล่าวเสริม
“ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลไทยอาทิ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และการพัฒนามาตรฐาน QR Code ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เดินทางมาท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้น” นายโดนัล ออง ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทยและเมียนมา มาสเตอร์การ์ด กล่าว "ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ของแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม (Non-OIC) จากนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”