“อุตตม” เตรียมลงพื้นที่ 7-8 พ.ค.นี้ร่วม ครม.สัญจร เตรียมหารือกับภาคเอกชนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ หนุนพัฒนาอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์และรถจักรยานยนต์ในพื้นที่บุรีรัมย์ ดันโคราชเป็นศูนย์กลางคลังรวบรวมสินค้า และต่อยอดอุตฯ อ้อยน้ำตาลสู่ไบโอชีวภาพ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์นั้น ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจะลงพื้นที่และร่วมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางเอกชนในพื้นที่ได้เสนอที่จะพัฒนา 3 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1. จ.บุรีรัมย์เสนอการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 2. จะมีการนำเสนอ ครม.ให้ จ.นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางคลังรวบรวมสินค้าภายใน (Inland Depot) 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในพื้นที่บุรีรัมย์และใกล้เคียง
ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ที่ทางจังหวัดบุรีรัมย์เสนอนั้นสอดรับกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ ซึ่งจะได้นำประเด็นดังกล่าวสรุปเพื่อรายงานให้ ครม.รับทราบที่กระทรวงฯ จะเข้าไปร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะได้ช่วยแนะนำพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาได้
“ทราบว่าจะมีการแข่งขันจักรยานยนต์ความเร็วสูงในเดือน ต.ค. เป็นโอกาสที่จะพัฒนาชิ้นส่วนประกอบและการแต่งรถ ซึ่งการพัฒนารถสมรรถนะสูงนั้นต้องทดสอบในสนามแข่งขันแทนที่จะใช้แข่งขันอย่างเดียวก็จะทดสอบได้ด้วย ก็จะพัฒนาได้จริงจัง เป็นการต่อยอดสนามแข่งขันที่มีอยู่ที่บุรีรัมย์” นายอุตตมกล่าว
สำหรับการเสนอ ครม.เพื่อผลักดันให้ จ.นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางคลังรวบรวมสินค้าเพื่อกระจายสินค้าไปยังภาคอีสานเนื่องจาก จ.นครราชสีมาเป็นประตูสู่ภาคอีสานอยู่แล้วประกอบกับมีระบบขนส่งผ่านหลายเส้นทาง ซึ่งเรื่องการพัฒนาการขนส่งจะเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม แต่ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนในแง่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่จะมีการขนถ่ายรวมไปถึงอุตาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ การบำรุงรักษา ฯลฯ
นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในพื้นที่เพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพจะได้มีการหารือกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งได้มีศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ไปสู่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและไบโอชีวภาพในการเพิ่มมูลค่าอ้อย ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่กระทรวงฯ จะสนับสนุนให้มีการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ทั้ง สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ คาดว่าจะสามารถนำแนวทางการพัฒนาไบโออีโคโนมีเฟส 2 เข้า ครม.ได้ไม่เกินปลายเดือนนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนแก้ไขรายละเอียดบางประเด็นจึงยังไม่สามารถเข้า ครม.ได้ทันในครั้งนี้
“สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิถือเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป วิสาหกิจชุมชนที่ได้ประสานไปยัง ส.อ.ท. จังหวัด ซึ่งช่วงเช้าวันที่ 7 พ.ค.ได้มอบหมายให้ นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม ลงไปฉายภาพใหญ่ให้ผู้นำชุมชนเห็นภาพการยกระดับไปสู่ 4.0 ว่าทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) พร้อมกันนี้ ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะนำหน่วยรถบริการเคลื่อนที่รถม้าเติมทุนไปให้บริการสินเชื่อถึงที่” นายอุตตมกล่าว