xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ลุ้นปรับโครงสร้างธุรกิจลดขนาดองค์กรรับเทคโนโลยีโลกเปลี่ยน ต.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สร.กฟผ.หนุนฝ่ายบริหารปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่รับ Disruptive Technology เพื่อให้องค์กรอยู่รอดระยะยาว รอลุ้นผู้ว่าฯ “กฟผ.” คนใหม่เคาะอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่ม 1 ต.ค.นี้ทันทีหรือไม่ เผยเบื้องต้นจ่อลดขนาดองค์กร วางเป้า 4 ปีลดพนักงานเหลือ 1.5 หมื่นคนโดยไม่รับเพิ่มใหม่จากผู้ที่เกษียณอายุที่จะมีราว 7 พันคนในช่วง 4 ปีนี้ พร้อมลดซ้ำซ้อนฝ่ายบริหารและภารกิจที่ไม่จำเป็นออก โดยหดระดับรองผู้ว่าฯ จาก 12 รอง เหลือ 7 รอง

นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สร.กฟผ.ได้หารือกับฝ่ายบริหารใกล้ชิดที่จะดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร กฟผ.ครั้งใหญ่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคตที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หรือ Disruptive Technology ด้วยการลดขนาดองค์กรลง โดยมีเป้าหมายที่จะลดพนักงานเหลือ 1.5 หมื่นคนจากปัจจุบันที่ 2.18 หมื่นคนภายใน 4 ปี หรือภายในปี 2564-65 ซึ่งจะใช้วิธีไม่รับพนักงานเพิ่มจากการเกษียณอายุของพนักงานโดยแนวทางการปรับโครงสร้างฯ ใหม่

“การปรับโครงสร้าง กฟผ.ได้ว่าจ้าง บ.ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PWC) ศึกษาเบื้องต้น สร.กฟผ.ในฐานะกรรมการคณะทำงานปรับโครงสร้างเองเราก็ต้องทำความเข้าใจพนักงานที่จะเปลี่ยนผ่านองค์กรวันนี้เพื่อให้ดีขึ้นในวันข้างหน้าที่จะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงและค่าไฟที่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนต่อไป ซึ่งรายละเอียดเรายังต้องหารือกับฝ่ายบริหารอีกครั้งวันที่ 10 พ.ค.นี้ และคงต้องรอนโยบายจากนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่อีกด้วยว่าจะเริ่ม 1 ต.ค.นี้ทันทีหรือไม่อย่างไร” นายศิริชัยกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าผู้ที่จะเกษียณอายุในปี 2561 จะมีราว 1,300-1,700 คน ปี 2562 -63 จะมีประมาณปีละ 1,700 คน และปี 2564 อีกประมาณกว่า 1,400 คน ซึ่งทั้งหมดก็จะลดคนไปได้ประมาณ 6,800-7,000 คนที่จะทำให้องค์กรมีขนาด 1.5 หมื่นคนได้ทันที อย่างไรก็ตาม เดิมนั้นได้หารือว่าจะทำการลดลงอย่างรวดเร็วโดยใช้วิธีเปิดรับสมัครใจการลาออก(เออร์ลีรีไทร์) ซึ่งจะทำให้การลดขนาดองค์กรเร็วกว่าเป้าหมาย 4 ปี แต่จากการศึกษาอย่างละเอียดแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดสมองไหลได้เนื่องจากโครงการดังกล่าวที่เคยดำเนินการมาพบว่าบุคคลที่เป็นแรงขับเคลื่นองค์กรหรือระดับมันสมองกลับยื่นเข้าโครงการมากกว่าบุคคลที่ควรจะเข้าโครงการ

นอกจากนี้ จะทำการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กรเช่นกันเพื่อความคล่องตัวและลดความซ้ำซ้อน เช่น จากปัจจุบันที่มี 12 รองผู้ว่าการ ทางบริษัทที่ปรึกษาเสนอให้ลดเหลือ 7 รองผู้ว่าการเนื่องจากมีความซ้ำซ้อนในบางภารกิจ และบางภารกิจก็ไม่มีความจำเป็นในปัจจุบันแล้ว เช่น วิศวกรรมพลังน้ำ เนื่องจากอดีต กฟผ.มีภารกิจที่จะต้องสร้างเขื่อนเพื่อการบริหารจัดการน้ำและมีผลพลอยได้เป็นกระแสไฟฟ้า แต่ขณะนี้การสร้างเขื่อนใหม่ๆ คงจะไม่เกิดขึ้นอีกจึงไม่มีความจำเป็นในส่วนนี้ ขณะที่ภารกิจใหม่ที่จะต้องเสริมเข้ามาคือพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ที่ กฟผ.เองได้ปรับเพิ่มส่วนนี้ไปก่อนแล้วนั้น ก็คงจะต้องมาดูว่าจะไปรวมในส่วนของโรงไฟ้ฟ้าหรือยุทธศาสตร์

“การบริหารองค์กรที่เคยมีฝ่ายบริหารระดับรอง 12 รองนั้นจะเหลือ 7 รองเพื่อลดซ้ำซ้อน เช่น เดิมมีรองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า และรองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า ก็จะเหลือเพียงรองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าแทน รองสายส่งก็จะไปรวมเหลือเพียงรองระบบส่ง ดังนั้นหลักๆ ที่จะเหลือก็จะมี ได้แก่ 1. รองยุทธศาสตร์ 2. รองบริหาร 3. รองบัญชีและการเงิน 4. เชื้อเพลิง 5. ระบบส่ง 6. ผลิตไฟฟ้า 7. ธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ชื่อเหล่านี้ก็ยังคงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง” นายศิริชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น