xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ รถไฟค้านตั้งบริษัทลูกเดินรถ-ซ่อมบำรุง หวั่นองค์กรแตกแยก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สหภาพฯ รถไฟพบ “อาคม-ไพรินทร์” เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนพนักงาน ค้านตั้งบริษัทลูกเดินรถและซ่อมบำรุง หวั่นทำให้องค์กรแตกแยก ยังติง พ.ร.บ.กรมรางฯ หวั่นนำไปสู่การแปรรูป และเร่งซื้อรถใหม่แก้ปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์ ด้าน “ไพรินทร์” รับลูก พร้อมชง คนร.แยกบัญชีเดินรถแทนตั้งบริษัทลูกฯ ขณะที่ยันเอกชน 3 สนามบินพร้อมซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เข้าพบว่า สหภาพฯ ได้หารือหลายประเด็น โดยเร่งเพิ่มอัตรากำลัง โดยปลดล็อกมติ ครม.ที่จำกัดการเพิ่มจำนวนพนักงานแต่ละปีไว้ที่ 5% จากผู้เกษียณอายุ ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขจะทำให้เกิดปัญหาหนักเมื่อรถไฟทางคู่ก่อสร้างเสร็จ นอกจากนี้ยังกังวลว่า พ.ร.บ.การขนส่งทางรางจะนำไปสู่การแปรรูป ซึ่งเรื่องดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่มีการแปรรูปรถไฟฯ แต่อย่างใด โดย พ.ร.บ.การขนส่งทางรางจะทำให้มีระบบ regulator เช่นเดียวกับการขนส่งทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ ที่มีการออกใบอนุญาต เช่น คนขับรถไฟมีใบอนุญาตสามารถย้ายไปทำงานเอกชนได้โดยมีคุณภาพตามมาตรฐานเดียวกัน เพราะปัจจุบันระบบรางมีการขยายตัวมาก ซึ่งทำให้ภาคเอกชนต่างพยายามพัฒนาตัวเอง

สำหรับการตั้งบริษัทลูกนั้น สหภาพฯ เห็นด้วยกับแนวทางตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ แต่ยังคัดค้านการตั้งบริษัทเดินรถ และบริษัทซ่อมบำรุง และเห็นว่าควรแยกเป็นฝ่าย หรือแผนกเดินรถ หรือแผนกซ่อมบำรุงมากกว่าเพื่อไม่ให้แยกออกจากรถไฟฯ ซึ่งอาจจะเป็นการมองต่างมุม เพราะองค์กรที่มีพนักงาน 2-3 หมื่นคน หากจะอยู่ภายใต้ซีอีโอคนเดียวที่ต้องดูทุกเรื่อง ทุกด้านอาจจะทำให้การบริหารงานไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการแยกเป็นบริษัทย่อยจะทำให้สามารถคัดสรรผู้บริหารที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และมีข้อดี ที่จะทำให้โครงสร้างเล็กมีตำแหน่งเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงฯ เห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของรถไฟโดยตรง

นายไพรินทร์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ร่วมทำแผนฟื้นฟู ซึ่งได้เสนอให้แยกบัญชีการเดินรถและการซ่อมบำรุงแต่ละสาย เช่น สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายใต้ สามารถตรวจสอบตัวเลขและแข่งขันกันเองได้ ขณะที่การแยกเป็นบริษัทลูกเป็นข้อเสนอของ คนร. ซึ่งขณะนี้แผนฟื้นฟูยังอยู่ระหว่างการทบทวน และสามารถเสนอขอเปลี่ยนวิธีการได้ ซึ่งการแยกบัญชีเป็นสายๆ จะคล้ายญี่ปุ่นที่แยกเดินรถ เป็นสาย JR West, JR East และทำให้มีกำไร โดย คนร.จะมีการประชุมปลายเดือน พ.ค.นี้

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในการยกระดับและพัฒนาโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟเพื่อรองรับอนาคต และสร้างมาตรฐานบุคลากรรถไฟ ที่จะต้องพัฒนาการเรียนการสอนจากรถจักรดีเซลไปสู่รถไฟฟ้าด้วย เนื่องจากปัจจุบันยังต้องส่งพนักงานด้านรถไฟฟ้าไปอบรมที่ บริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทขายรถไฟฟ้า

*****“ไพรินทร์” เผยผู้บริหาร 3 สนามบินพร้อมซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ใหม่

ส่วนของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์นั้น ได้ขอให้เร่งซื้อรถใหม่ 7 ขบวน ซึ่งเรื่องนี้มีมติ ครม.อนุมัติไว้แล้วเมื่อ ธ.ค. 2556 แต่ตนเห็นว่าหากรถวิ่งได้ 6 ขบวน สำรอง 1 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ ซึ่งจริงๆ มีรถถึง 9 ขบวน ปัญหาของแอร์พอร์ตลิงก์คือ การซ่อมบำรุง หากซื้อรถใหม่แต่ซ่อมแบบนี้ ซื้อมาเกรงจะมาจอดอีก อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารรถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะรับโอนแอร์พอร์ตลิงก์ไป ซึ่งมีผู้จะเข้าประมูลหลายรายเห็นว่าพร้อมซื้อรถใหม่ แต่ตอนนี้ควรเร่งซ่อมก่อนเพื่อรักษาผู้โดยสารที่มีกว่า 7หมื่นคนไว้ เพราะในช่วงก่อสร้าง 3-5 ปี ผู้บริหาร 3 สนามบินจะมีรายได้จากการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์นี้ แต่ก็เป็นไปได้ที่จะคุยกับเอกชนหากรัฐซื้อรถได้เร็วจะซื้อแล้วให้เอกชนรับต่อ แต่ตอนนี้ 3 สนามบิน TOR ใกล้ออกแล้วต้องดูใครซื้อจะเร็วกว่ากัน

นอกจากนี้ สหภาพฯ ขอให้รัฐบาลช่วยเจรจาและแก้ปัญหาที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ขนาด 5,000 กว่าไร ที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้เป็นที่ดินของรถไฟแล้ว เพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่รถไฟ ซึ่งกระทรวงรับเรื่องไว้แล้ว

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯ รถไฟ กล่าวว่า แม้ยืนยันว่าไม่มีการแปรรูป แต่ยังกังวลว่าบางมาตราอาจจะเขียนให้รถไฟเสียสิทธิในบางเรื่องบางประเด็น ซึ่งได้ขอให้หารือกันก่อน จะสรุปเพื่อให้สบายใจทุกฝ่าย หากไม่แปรรูปแน่นอนก็จะเร่งเดินหน้าต่อไป ส่วนการตั้งบริษัทลูกเดินรถและซ่อมบำรุงนั้นอาจไม่เหมาะสม และเห็นว่ารถไฟควรเป็นองค์กรเดียวไม่ควรแยกจากกัน ซึ่งการบริหารสามารถปรับปรุงหารูปแบบอื่นที่เหมาะสมได้

ส่วนปัญหาพนักงานและลูกจ้างไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันมี 10,309 อัตรา ยังขาดอีก 7,800 กว่าอัตรา เป็นในส่วนพนักงานกว่า 7,000 คน ลูกจ้าง 145 คน ทำให้ต้องมีการจ้างลูกจ้างแบบรายวันนอกกรอบเข้ามาทำงาน ไม่มีระบบเบิกจ่าย ไม่มีสัญญา เมื่อมีการทำงานเกินเวลาจะไม่สามารถเบิกอะไรได้เลย เป็นการจ้างงานที่ไม่ชอบ ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่ควรทำแบบนี้ ดังนั้นหากปลดล็อกมติ ครม.ได้จะทำให้การจ้างงานเข้าสู่ระบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น