xs
xsm
sm
md
lg

ดันแผนตั้ง Safety Manager คุมรถสาธารณะ หวังลดสถิติอุบัติเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะทำงานความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน ซึ่งได้มีการสรุปผลการประชุมคณะทำงานร่วมไทย - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วม ได้ให้ทุกหน่วยงานนำผลการศึกษาอบรม/ดูงานด้านความปลอดภัยทางถนนมาประยุกต์ใช้กับโครงการต่าง ๆ และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายอาคมกล่าวว่า ความร่วมมือไทย - ญี่ปุ่น นี้จะเน้นเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน หรือ Road Safety โดยเบื้องต้น จะนำรูปแบบการตั้ง Transport Safety Manager เพื่อบริหารจัดการความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) จ้างที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์และทำประกาศกรมขนส่งฯ ออกมา ซึ่งจะต้องประชุมร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อขอความร่วมมือ โดยญี่ปุ่นจะมาบรรยายรายละเอียดและจะให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมรับฟัง เพื่อเริ่มมาตรการนี้ภายในปีนี้แน่นอน
ทั้งนี้ อาจจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่ม แต่จะต้องให้ตระหนักถึงมาตรการที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งปัจจุบันมีบางบริษัท ที่มี Transport Safety Manager แล้ว เช่น นครชัยแอร์ ปัญหาคือ จะต้องผู้ประกอบการรายย่อย รถหมวด 30 (เช่าเหมา) ที่มีรถ 1-2 คัน ซึ่งจะต้องทำการทดลองก่อนเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจและเห็นภาพจริง ว่ามีประโยชน์อย่างไร

“ญี่ปุ่น เรียกว่า Operation Manager โดยแต่ละบริษัท หรือผู้ประกอบการแต่ละรายจะมีประจำ โดยก่อนที่คนขับจะออกปฏิบัติหน้าที่จะต้องรายงานตัวต่อ Operation Manager และเข้าสู่การตรวจสอบ วัดแอลกอฮอล์ พูดคุย และแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางที่จะต้องวิ่งในวันนี้ โดยจะมีอุปกรณ์เสียบกับรถแต่ละคันเพื่อบันทึกพฤติกรรมคนขับ เมื่อกลับเข้ามาสำนักงาน จะต้องนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาให้ Operation Manager เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมอีกชั้นหนึ่ง ประเทศญี่ปุ่นเคยมีอุบัติเหตุสูง แต่ใช้เวลาแก้ไขใน 9 ปี ลดลงได้ 50 % ขณะที่ประเทศไทยสามารถนำแนวทางที่เหมาะสมใช้ได้เลย ซึ่งเชื่อว่า ภายใน 10 ปีจะลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้อย่างเป็นรูปธรรม”

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานฯ ฝ่ายไทย ได้ สรุปผลการประชุมคณะทำงานร่วมไทย - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 6 ว่า ฝ่ายไทยได้นำเสนอผลการดำเนินงานต่าง ๆ ได้แก่ ผลการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 มาตรการในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 และการจัดกิจกรรมรณรงค์ “Thailand Smart Driver” ฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอมาตรการความปลอดภัยรถสาธารณะ การบริหารจัดการจุดตัดรถไฟ และความคืบหน้าโครงการความร่วมมือด้านเทคนิคกับ JICA

นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ อาทิ การลดอุบัติเหตุของไทยต้องใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไป และเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถแก้ปัญหาได้เร็วกว่าญี่ปุ่น เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นผลสำเร็จแล้วจากญี่ปุ่น ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่ในประเทศไทยเกิดจากความเร็ว หากสามารถบังคับควบคุมความเร็วรถได้ จะทำให้สามารถลดอุบัติเหตุลง สำหรับปัจจัยหลักสำคัญในการลดอุบัติเหตุ

ประกอบด้วย 1) คน ต้องให้การอบรมและสร้างระบบการออกใบขับขี่ที่ได้มาตรฐาน 2) รถ ต้องมีมาตรฐานและมีสภาพที่พร้อมใช้ได้อย่างปลอดภัย 3) ถนน ต้องออกแบบให้มีความปลอดภัยสูงสุดกับผู้ใช้ทาง ทั้งนี้ การปรับปรุงกายภาพถนน หรือการเตือนผู้ขับขี่ด้วยเครื่องหมายจราจร ควรพิจารณาถึง Mind Set ของผู้ขับขี่ในประเทศไทยที่ต่างจากประเทศญี่ปุ่น โดยจะต้องนำมาเป็นข้อพิจารณาให้เหมาะสมกับประเทศไทย เป็นต้น

และ ได้รายงานการศึกษาอบรม/ดูงานฯ ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการจราจร การบริหารจัดการรถโดยสารสาธารณะและการตรวจสภาพรถ การจัดเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์อุบัติเหตุ เมืองต้นแบบของ Smart City การบริหารจัดการการใช้ถนนในเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และการวิเคราะห์และวางแผนความปลอดภัยทางถนน การจัดที่พักริมทาง (Service Area) การบริหารจัดการจุดตัดรถไฟ การจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านความปลอดภัยทางถนน มาตรการความปลอดภัยทางถนนบริเวณทางโค้ง ทางลาดชัน และอุโมงค์ และการเชื่องต่อโครงข่ายระหว่างโหมดการเดินทาง ซึ่งการศึกษาอบรม/ดูงานฯ ดังกล่าว เป็นการดำเนินการระหว่างกระทรวงคมนาคม กับ MLIT ในระหว่างวันที่ 21 - 30 มีนาคม 2561

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีโครงการนำร่องที่นำมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนของญี่ปุ่นมาใช้โดยโครงการถนน 10 สายใน 4 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ขอนแก่นและได้ขยายเพิ่มที่ นครราชสีมา ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี ซึ่งคัดเลือกจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย เช่น การเพิ่มอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ได้แก่ การทาสีลงบนพื้นถนน หรือ Anti Skid Paint มักใช้บริเวณจุดที่ต้องการเพิ่มแรงเสียดทานให้รถเกาะถนนมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น