xs
xsm
sm
md
lg

"ฟิตเนส"เดือดเชนใหม่เปิดศึก24ชั่วโมง เชนเก่า"เลิกค่าแรกเข้า-ปั้นแบรนด์ใหม่"ลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดฟิตเนสในประเทศไทย ว่ากันว่ามีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 6,000 – 9,000 กว่าล้านบาท ซึ่งก็ไม่มากไม่น้อย แต่ก็เป็นตลาดที่มีผู้ประกอบการสนใจเข้าสู่ตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไทยที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวเป็นเชนขนาดกลางขึ้นมาบ้างแล้ว แต่สาขาอาจจะยังไม่มากนัก หรือแม้แต่ ฟิตเนสเชนจากต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ระดับต้นๆในประเทศนั้น ขยายธุรกิจเข้ามาสู่ตลาดประเทศไทยหลายรายแล้ว
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีหลายแบรนด์ที่ดังๆแต่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ ธุรกิจมีปัญหาและล่มสลายไปแล้วหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แคลิฟอร์เนีย ว๊าวส์ หรือ ทรูฟิตเนส แต่ล้วนเกิดจากปัญหาการบริหารงานภายในองค์กรทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดจากสภาพธุรกิจตลาดรวม
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ยังคงมีบทบาทในตลาดฟิตเนสในไทยที่เป็นเชนรายใหญ่ก็ยังมีเหลือไม่กี่ราย เช่น ฟิตเนส เฟิร์สท รายนี้ต้องยกให้เป็นเจ้าตลาดทั้งในแง่จำนวนสาขา และจำนวนสมาชิก รวมไปถึง เวอร์จิ้นแอคทีฟ วีฟิตเนส เอ็มฟิตเนส และอื่น ๆ
ล่าสุด ก็ยังมีเชนฟิตเนสต่างประเทศรายใหญ่เข้ามาเปิดบริการในไทยไม่น้อยกว่า 3 แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น เจ็ทส์ฟิตเนสจากออสเตรเลีย และ ฟิตเนส24SEVEN จากสวีเดน และอีกแบดรน์คือ เซเลบริตี้ ฟิตเนส จากสิงคโปร์ของเครือฟิตเนสเฟิร์สทที่เพิ่งไปซื้อกิจการมา

*** “ฟิตเนส” เปิดศึกเปิด24ชั่วโมง
แต่ดูเหมือนว่า ตลาดฟิตเนสในช่วงนี้ กระแสการเปิดบริการ 24ชั่วโมงค่อนข้างมาแรงเอาการ เนื่องจาก สองเชนใหญ่จากต่างประเทศ เข้ามาขยายธุรกิจและเปิดประเด็นการแข่งขันการบริการ24ชั่วโมง

นายไมเคิล เดวิด แลมบ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟิตเนส แอนด์ ไลฟ์สไตล์ กรุ๊ป จำกัด และ กรรมการผู้จัดการ เจ็ทส์ ฟิตเนส เอเชีย (Jetts 24 Hours Fitness) ฟิตเนสดังจากออสเตรลีย กล่าวว่า ตลาดฟิตเนสในประเทศไทย ยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟิตเนสที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีความต้องการใช้บริการฟิตเนส แต่ไม่มีฟิตเนสที่เปิดบริการ24 ชั่วโมงรองรับมากเพียงพอจึงกลายเป็นข้อจำกัด

“จริงๆแล้ว ยังมีกลุ่มคนอีกหลายอาชีพ ที่ทำงานเป็นกะหรือเป็นเวลาที่ไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น อาชีพ หมอ พยาบาล ตำรวจ หรือพวกทำฟรีแลนซ์ ต่างๆซึงคนเหล่านี้ ก็ยังมีความต้องการที่จะเล่นฟิตเนสเหมือนกันในช่วงกลางคืน และต้องการได้รับบริการและอุปกรณ์เช่นเดียวกับฟิตเนสปกติ ในราคาที่เข้าถึงได้”
เช่นเดียวกับคู่แข่งขันอีกแบรนด์ที่เปิดตัวไม่นานนี้ อย่าง ฟิตเนส24SEVEN จากสวีเดน
นาตาเลีย ฟรอบบิท ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟิตเนส24เซเว่น
นางนาตาเลีย ฟรอบบิท ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟิตเนส24เซเว่น กล่าวว่า ฟิตเนส24เซเว่น สนใจตลาดฟิตเนสในประเทศไทย ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยได้เปิดสาขาแรกในไทยและบริการ24ชั่วโมง ที่โครงการซัมเมอร์ฮิลล์ พระโขนงเมื่อต้นปี2561นี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อมอบบริการที่ดีในราคาที่คุ้มค่าแก่กลุ่มลูกค้าชาวไทยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และที่สำคัญค่าใช้จ่ายไม่ควรจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าเกิดความลังเลในการเข้าใช้บริการ เราจึงนำเสนอทางเลือกใหม่ในการออกกำลังกายในราคาที่คุ้มค่าแก่ลูกค้าในเมืองไทยในรูปแบบบริการ 24 ชั่วโมง

ขณะที่เจ้าตลาดรายเก่าอย่างฟิตเนสเฟิร์สท ก็ยังอยู่เฉยไม่ได้ กับช่องว่างทางการตลาด24 ชั่วโมงนี้ ท่ามกลางรายใหม่ที่รุกหนักเข้ามา
มาร์ค เอลเลียต บิวคานันท์ กรรมการบริหาร บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด
นายมาร์ค เอลเลียต บิวคานันท์ กรรมการบริหาร บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่า ตลาดบริการฟิตเนส 24 ชั่วโมง ก็เป็นอีกเซ็กเมนต์ที่น่าสนใจเช่นกัน ซึ่งฟิตเนสเฟิร์สทเองยังไม่ได้เปิดบริการในตลาดนี้ แต่ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการศึกษาถึงความเป็นไปได้ ทั้งในแง่ของตลาด ความต้องการ และความพร้อม เพื่อรองรับการเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะเริ่มได้ในบางสาขา คงไม่ได้ทำทุกสาขา หรือในบางสาขาอาจจะเลื่อนเวลาเปิดปิดเพือ่เปิดบริการให้มากขึ้น
แหล่งข่าวจากวงการฟิตเนส กล่าวให้ความเห็นว่า ตลาดฟิตเนสในไทยมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง เป็นผลมาจากกระแสการรักษาสุขภาพของคนไทยที่มีมากขึ้น ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้นเช่นกัน และการเข้าถึงฟิตเนสในปัจจุบันนี้ง่ายและสะดวกขึ้น มีเปิดบริการกระจายไปยังศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ย่านชุมชนตามหมู่บ้านต่างๆ หรือแม้แต่ในอาคารสำนักงาน อีกทั้งค่าบริการและเงื่อนไขที่ดีขึ้นจากการแข่งขันในตลาด ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้บริการได้ง่ายขึ้น ยิ่งถ้ามีการเปิดบริการ24ชั่วโมงก็คงทำให้ตลาดคึกคักขึ้นมาอีก
ถ้าหากฟิตเนสเฟิร์สท ลงสู่สมรภูมิ ฟิตเนส 24ชั่วโมง เมื่อไร เมื่อนั้นตลาดคงแข่งขันกันสนุกแน่นอน
อย่างไรก็ตาม 2เชนใหญ่ ต่างก็มีแผนชัดเจนในการรุกธุรกิจฟิตเนส24ชั่วโมงนี้แล้วเช่นกัน

*** “เจ็ทส์ ฟิตเนส” เป้า5ปีผุด100สาขา

นายไมเคิล เดวิด แลมบ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟิตเนส แอนด์ ไลฟ์สไตล์ กรุ๊ป จำกัด และ กรรมการผู้จัดการ เจ็ทส์ ฟิตเนส เอเชีย (Jetts 24 Hours Fitness) กล่าวว่า เจ็ทส์ฟิตเนส วางเป้าหมายระยะยาวภายใน 5 ปีจากนี้ (2561-2565) จะขยายสาขาให้ครอบคลุมประมาณ 100 สาขา จากปีนี้ที่คาดว่าภายในสิ้นปีนจะมีเปิดบริการรวม 15 สาขา และจะเพิ่มฐานจำนวนสมาชิกอีก 15% เป็น 8,000 ราย จากขณะนี้ที่มีประมาณ 5,000 รายแล้ว และสร้างรายได้ให้เติบโตปีละประมาณ 5% ได้แน่นอน ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโต 400%
จากปัจจุบันที่เจ็ทส์ฟิตเนสเปิดบริการในไทยแล้ว 7 สาขา ซี่งมี 4 สาขาที่เพิ่งเปิดพร้อมกันในช่วงต้นปีนี้ คือ คือ สเตเดียม วัน (จุฬาฯ) BTS สนามกีฬาฯ, เดอะสตรีท (รัชดา) MRT ศูนย์วัฒนธรรม, เดอะฟิล (อ่อนนุช) BTS อ่อนนุช และ สีลม คอนเนค (ช่องนนทรี) BTSช่องนนทรี
ขณะที่สาขาเดิม 3 สาขาที่เปิดบริการไปก่อนหน้าแล้ว คือ สวนเพลิน มาร์เก็ต (พระราม 4), นวมินทร์ ซิตี้ อเวนิว (เกษตร-นวมินทร์) และเดอะซีน (ทาวน์อินทาวน์)
โดยแผนลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง2561นี้ ตั้งงบประมาณไว้ 360 ล้านบาท คาดว่าจะขยายเพิ่มอีก 8 สาขา นอกจากในตลาดกรุงเทพฯแล้ว เจ็ทส์ฟิตเนส ยังสนใจขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่อีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ในการขยายสาขาเช่น เชียงใหม่ พัทยา เป็นต้น
ทั้งนี้บริษัทฯมีความมั่นใจเนื่องจากจุดเด่นและจุดแข็งของเจ็ทส์ ฟิตเนส ที่มีความหลากหลาย ทั้งการเปิดบริการตลอด24ชั่วโมงทุกวัน เจาะกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัย ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่ นิยมออกกำลังกายเพิ่มขึ้นกว่า 10% การให้บริการแบบจ่ายรายเดือน รวมไปถึงราคาบริการที่ต่ำกว่าคู่แข่งในนตลาดไม่น้อยกว่า 25% หรือการทำตลาดประชาสัมพันธ์เชิงลึกผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย การจัดกิจกรรม และการใช้เซเลบริตี้ ในการขยายแบรนด์ด้วย
อีกทั้งการที่เราเลือกทำเลสะดวกในการใช้บริการ คือ จะเลือกทำเลใจกลางเมือง และที่อยู่ตามแนวของรถไฟฟ้า ทั้งใต้ดินและบนดิน สังเกตได้จาก 4 สาขาที่เปิดใหม่นี้ ล้วนอยู่ตามเนวทางรถไฟฟ้าทั้งสิ้น โดยแต่ละสาขาพื้นที่เฉลี่ยที่ 750 ตารางเมตร

นายไมเคิล กล่าวด้วยว่า เจ็ทส์ฟิตเนส ใช้กลุทธ์การขยายสาขาจะมุ่งเน้นการเปิดไปตามแนวรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ที่เป็นย่านชุมชนหนาแน่น เบื้องต้นอาจจะเปิด 20 สาขาต่อปี แบ่งเป็น กทม. 10 สาขา ตจว. 10 สาขา ต่อเนื่อง กัน 5 ปี ซึ่งบริษัทฯแม่มีเงินทุนพร้อมลงทุนต่

** “ฟิตเนส24เซเว่น” ลุยแนวรถไฟฟ้า

ขณะที่อีกรายใหญ่อย่าง “ฟิตเนส24เซเว่น (Fitness24Seven)” จากประเทศสวีเดน ปัจจุบันมีสาขาเปิดรวมแล้วมากกว่า 250 แห่งทั่วโลก เช่น ในสวีเดน ประมาณ 154 สาขา , ในฟินแลนด์ ประมาณ 54 สาขา , ในนอร์เวย์ ประมาณ 8 สาขา , โปแลนด์, โคลอมเบีย และประเทศไทยเป็นตลาดใหม่และเป็นประเทศแรกในตลาดเอเชียด้วย

นางนาตาเลีย ฟรอบบิท ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟิตเนส24เซเว่น กล่าวว่า แผนธุรกิจในประเทศไทยของฟิตเนส24เซเว่น จะมีต่อเนื่อง หลังจากที่เปิดสาขาแรกไปแล้วที่ โครงการซัมเมอร์ฮิลล์ พระโขนง เมื่อต้นปี2561นี้ และวางแผนจะขยายสาขาในปี 2561 นี้รวมประมาณ 10 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ฟิตเนส24เซเว่น ได้ทำการสำรวจพื้นที่ ความต้องการ และการแข่งขันในตลาดเมืองไทย พบว่า อัตราการแข่งขันและการเจาะตลาดในไทยยังต่ำกว่า 1% ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี และทำให้เรามองเห็นถึงโอกาสและศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในไทยและพร้อมจะวางกลยุทธ์เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดฟิตเนส”

การเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยครั้งนี้ของฟิตเนส24เซเว่นนั้น มีเป้าหมายเพื่อมอบบริการที่ดีในราคาที่คุ้มค่าแก่กลุ่มลูกค้าชาวไทยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และที่สำคัญค่าใช้จ่ายไม่ควรจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าเกิดความลังเลในการเข้าใช้บริการ เราจึงนำเสนอทางเลือกใหม่ในการออกกำลังกายในราคาที่คุ้มค่าแก่ลูกค้าในเมืองไทย โดยอัตราค่าสมาชิกฟิตเนส24เซเว่นอยู่ที่ 1,299 บาทต่อเดือน เก็บค่าบริการแรกเข้า 999 บาท ซึ่งจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวสำหรับการใช้บริการ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่า 2 รายใหญ่ อย่าง ฟิตเนสเฟิร์สท กับ เวอร์จิ้นแอคทีฟ ที่มีค่าบริการเฉลี่ย 2,000 บาทขึ้นไป

สำหรับสมาชิก ฟิตเนส24เซเว่น (Fitness24Seven) สามารถเข้าใช้บริการในสาขาต่างๆ ได้ทั่วโลกที่มีสาขา นั่นหมายความว่าลูกค้าสามารถไปออกกำลังกายที่ฟิตเนสใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน แม้กระทั่งในขณะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาว ลูกค้าก็สามารถใช้บริการที่สาขาในต่างประเทศได้

*** “ฟิตเนส เฟิร์สท” ดันแบรนด์ใหม่ “เซเลบริตี้

นายมาร์ค เอลเลียต บิวคานันท์ กรรมการบริหาร บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแผนธุรกิจในปี 2561 ว่า ฟิตเนส เฟิรส์ท ประเทศไทย ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 6.3% และรายได้จากครูฝึก เติบโต 14.6% รวมทั้งแผนการเพิ่มคลาสให้สมาชิกได้ใช้บริการมากถึง 18,500 คลาสต่อเดือน ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีสมาชิกเข้าใช้บริการในคลับสูงถึง 6.7 ล้านครั้งขณะที่ปี 2560 ฟิตเนส เฟิร์สท เปิดให้บริการจำนวนคลับ 28 แห่ง รวมสมาชิกกว่า 78,000 คน โดยสมาชิกเข้าใช้บริการในคลับสูงถึง 6.3 ล้านครั้งในปีที่แล้ว มีคลาสออกกำลังกายให้ใช้บริการมากถึง 17,000 คลาสต่อเดือน

โดยฟิตเนส เฟิร์สท จะขยายสาขาและรูปแบบใหม่ ด้วยงบลงทุนปีนี้ 450 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่ใช้ประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อเปิดสาขาใหม่ 4 สาขา คือที่ เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2, เซ็นทรัลเวิลด์,เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ และคลับไอคอนที่ไอคอนสยาม ซึ่งคลับใหม่นี้จะมาพร้อม 2 คอนเซ็ปต์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์คนรักการออกกำลังกายในทุกไลฟ์สไตล์

นอกจากนั้นจะเปิดแบรนด์ใหม่คือ เซเลบริตี้ ฟิตเนส (Celebrity Fitness)เน้นทำเลใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และราคาค่าสมาชิกจะถูกกว่าฟิตเนสเฟิรส์ท ที่บริษัทแม่เพิ่งซื้อกิจการมาในสิงคโปร์ เพื่อใช้แบรนด์นี้ในการขยายกลุ่มเป้าหมายสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 20 ปีขึ้นไปเป็นหลัก หลังจากที่ “Fitness First Asia” บริษัทแม่ของฟิตเนส เฟิรส์ท ประเทศไทย ได้ควบรวมกิจการกับ “Celebrity Fitness” ในปีที่แล้ว ภายใต้การบริหารของ “Evolution Wellness” เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจฟิตเนสที่มีเครือข่ายมากที่สุดในเอเชีย

*** “เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” ยกเลิกค่าแรกเข้า

ส่วนรายใหญ่อีกราย แม้ว่าจะยังไม่มีแผนเปิดบริการ 24 ชั่วโมงทุกสาขาบ้างก็ตาม แต่ก็มีฟิตเนสโซนบริการให้กับเด็กด้วย และล่าสุด เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ ตัดสินใจยกเลิกการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าสำหรับสมาชิกใหม่ ซึ่งถือเป็นการสร้างมิติใหม่ให้กับวงการฟิตเนสในไทยไม่น้อย เพื่อเป็นการสร้างความแตกต่างในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงนี้
นายคริสเตียน เมสัน กรรมการผู้จัดการเวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวให้เหตุผลว่า การยกเลิกค่าแรกเข้านั้นเป็นผลมาจากประสบการณ์ของเราในอุตสาหกรรมนี้และความเข้าใจในความต้องการของคนไทย การริเริ่มความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะเดินตามคำมั่นสัญญาที่มอบไว้เมื่อเปิดตลาดในประเทศไทยครั้งแรกว่า เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ คำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลักเสมอ และจะมอบประสบการณ์ที่มีคุณภาพเหนือระดับให้แก่สมาชิก”

ปัจจุบันมีฟิตเนสหรือสถานออกกำลังกายเกิดขึ้นมาก เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เล็งเห็นว่า ผู้ให้บริการสถานออกกำลังกายจะต้องปรับตัวและพัฒนาการให้บริการ หรือลดค่าบริการเพื่อรักษาฐานลูกค้า โดยค่าธรรมเนียมแรกเข้า คือค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้บริการฟิตเนสจะเรียกเก็บล่วงหน้า เมื่อสมาชิกสมัครใช้บริการเป็นครั้งแรก ซึ่งอาจราคาสูงกว่าหรือเทียบเท่าค่าบริการรายเดือน เมื่อคำนวณรวมกับค่าบริการรายเดือนจึงถือว่าเป็นเงินจำนวนมากที่สมาชิกจะต้องจ่าย
ปัจจุบัน Virgin Active มี Club เปิดให้บริการทั้งสิ้น 7 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 6 แห่งคือ เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เอ็มไพร์ทาวเวอร์ , เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เอ็มควอเธียร์ , เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เวสตเกต, เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ สยามดิสคัฟเวอรี่, เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ อีสต์วิลล์ , เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ ถนนวิทยุ และ เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เชียงใหม่

ตามแผนงานระยะยาวแล้ว เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ จะเปิดสาขาให้ครบ 20 แห่งภายในปี 2565


กำลังโหลดความคิดเห็น