ขสมก.อ่วม ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หยุดการซื้อขาย รถเมล์ NGV 489 คัน กว่า 4.2 พันล. หลังพิจารณาเห็นว่ามติบอร์ด ขสมก.เมื่อ 18 ธ.ค.และ20 ธ.ค. 60 ที่อนุมัติซื้อรถเมล์ NGV จาก กลุ่มร่วมทํางาน SCN-CHO ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมสั่งชดใช้ค่าเสียหายให้เบสท์ริน 1,159.9 ล้านบาท กรณีเลิกสัญญาไม่รับมอบรถ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองการจัดซื้อซื้อขายรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซม และบำรุงรถโดยสาร 489 คัน ตามคดีหมายเลขดำที่ 709/2561 ระหว่างบริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1 คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของบอร์ด ขสมก. ในการประชุมครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2560 ที่อนุมัติสั่งซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซม และบำรุงรถโดยสาร 489 คัน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,891,450,000 บาท และที่อนุมัติสั่งจ้างซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารจำนวน 489 คัน เป็นเงินทั้งสิ้น 2,369,388,375 บาท กับ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO” โดยมีบริษัท ช. ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน)
และตามมติบอร์ดขสมก.ในคราวประชุมครั้งที่ 16/2560 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ที่รับรองรายงานการประชุมบอร์ดครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2560 โดยไม่ให้ ขสมก.และบอร์ดนำมติดังกล่าวไปดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องว่า จากที่การประชุมบอร์ด ขสมก.ครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2560 พิจารณาอนุมัติการประมูลรถเมล์ NGV 489 คัน มีกรรมการ ขสมก.เข้าร่วมประชุม 9 คน มีการอภิปรายว่าควรมีการจัดซื้อหรือไม่ และยังไม่ได้มีการลงมติอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง เพียงแต่ให้หลักการให้ชี้แจงในการประชุมครั้งต่อไป แต่บอร์ดได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า มีมติเห็นชอบลงนามสัญญา จำนวน 6 ต่อ 4 และต่อมาบอร์ดมีการประชุมเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 เพื่อรับรองราบการการประชุมครั้งก่อนหน้า โดยมีบอร์ดเข้าร่วม 6 คน ซึ่ง มีกรรมการ 3 คนไม่รับรอง กรรมการ2 คนรับรอง อีก 1 คนงดออกเสียง ดังนั้นที่ประชุมต้องมีมติไม่อนุมัติทำสัญญา แต่ ขสมก.ประกาศว่าบอร์ดมีมติเห็นชอบหรืออนุมัติทำสัญญาได้ ถือว่าการดำเนินการทำสัญญาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลไต่สวนคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2561 ซึ่งขสมก.ได้ชี้แจงว่า มติบอร์ด เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2560 มีมติเอกฉันท์ ไม่มีกรรมการคนใดมีมติไม่เห็นชอบ เป็นการประชุมตามข้อบังคับฉบับที่1 ขสมก.ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการและอนุกรรมการลงวันที่ 10 พ.ย. 2519 แต่ในขณะลงมติ รองศาสตราจารย์คณิต วัฒนวิเชียร ได้ออกจากที่ประชุม เหลือกรรมการ 8 คน ซึ่งนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกรรมการได้กล่าวว่า คณะกรรมการมีมติเห็นชอบตามที่เสนอ
ส่วนการประชุมบอร์ดวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ได้ขอดูถ้อยคำ เพื่อความแน่ใจ ถ้อยคำของประธานบอร์ดเป็นการอนุมัติของบอร์ดขสมก.แล้ว กรรมการอื่นไม่มีคัดค้าน ขสมก.จึงถือเป็นมติบังคับใช้ แต่ต่อมาได้จัดทำมติบอร์ดกลับไม่ปรากฎข้อความอนุมัติในรายงานการประชุม และพบว่า การประชุมวันที่20 ธ.ค.2560 มีกรรมการเข้าประชุม 6 คนได้อภิปรายและมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคา และการรวบรัดจัดซื้อจัดจ้าง
อย่างไรก็ตาม ขสมก.ชี้แจงต่อศาลว่า ได้เซ็นสัญญาและได้รับมอบรถ จำนวน 100 คัน เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2561 และได้มอบให้เขตเดินรถประจำการ วิ่งและเก็บค่าโดยสารตามปกติแล้ว หากมี คำสั่งดังกล่าวทุเลาตามผู้ฟ้อง จะส่งผลกระทบต่อบริการสาธารณะอย่างแน่นอน
***สั่งชดใช้ค่าเสียหายเบสท์ริน กว่า 1.15 พันล. กรณีไม่รับมอบรถNGV
ขณะเดียวกันศาลปกครองกลาง ยังมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 502,955/2560 ให้ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการผิดสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศ NGV ตามสัญญาเลขที่ ร.50/2559 ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 รวมเป็นเงิน1,159,969,552.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด กับพวกรวม 4 ราย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
โดยศาลระบุ ข้อเท็จจริงในคดีว่าบริษัท เบสท์รินฯ กับพวกทำสัญญาซื้อขายรถโดยสาร NGV ให้ ขสมก. จำนวน 489 คันเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 และมีกำหนดส่งมอบรถทั้งหมดภายใน 90 วันนับถัดจากวันลงนามสัญญา ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการนำเข้ารถโดยสาร NGV ทั้ง 489 คัน ณ วันที่ 24 มกราคม 2560 และได้นำรถ 390 คันไปติดตั้งระบบติดตาม GPS ในจำนวนนี้ได้นำไปจดทะเบียนต่อกรมขนส่งทางบกเป็นชื่อของ ขสมก. แล้วจำนวน 292 คัน แม้จะมีรถยนต์บางส่วนยังอยู่ที่กรมศุลกากร
ดังนั้นการที่ ขสมก. ไม่ตรวจรับมอบรถโดยอ้างว่า ได้รับหนังสือจากสำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่า ให้รอกรมศุลกากรพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าก่อน รวมทั้งอ้างว่าส่งมอบรถไม่เป็นไปตามาระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เป็นการขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการตรวจสอบรับและทดสอบรถเมล์เอ็นจีวีมีมติให้มีการส่งมอบรถโดยสาร NGV เป็นงวดๆ ได้
กรณีที่ ขสมก. อ้างสิทธิตามข้อ 21 ของสัญญาที่ระบุว่า ขสมก. มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีหากบริษัทเบสท์รินฯ ส่งมอบรถไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดในสัญญา และมีสิทธิริบหลักประกันรวมทั้งสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบริษัท เบสท์รินฯ ได้นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้ การบอกสัญญาจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 387 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ส่วนที่ ขสมก. อ้างว่า รถโดยสาร NGV ดังกล่าวไมได้เป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจากประเทศจีน หรือเป็นรถที่ประกอบในประเทศไทย แต่เป็นรถที่ประกอบขึ้นที่ประเทศมาเลเซียนั้น ศาลเห็นว่า จากประกาศของ ขสมก.เรื่อง การจัดซื้อรถโดยสาร NGV พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษา ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 มีเจตนารมณ์ในการจัดซื้อที่มิได้ถือแหล่งผลิตหรือแหล่งประกอบรถโดยสาร NGV เป็นสาระสำคัญ แม้ตามข้อตกลงในสัญญา ตกลงที่จะซื้อขายรถที่ผลิตในประเทศจีนทั้งคัน แต่ข้อเท็จจริง เป็นการนำรถมาประกอบที่ประเทศมาเลเซีย ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่าง ที่จะทำให้การจัดซื้อรถโดยสาร NGV ของ ขสมก.ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการบริการสาธารณะ ดังนั้นการที่ ขสมก.อ้างว่า บริษัท เบสท์รินฯ กับพวกเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสามารถบอกเลิกสัญญาตามกฎหมายได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ จึงพิพากษาให้ ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้บริหาร ขสมก.ได้นัดประชุมหารือเร่งด่วน โดยคาดว่า ขสมก.จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งทั้ง 2 กรณีต่อไป