“ไพรินทร์” จัดแผนฟื้นฟูรถไฟใหม่ เตรีมชง คนร.ได้ใน พ.ค.นี้ บูรณาการแผนเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มอัตราพนักงานและปรับโครงสร้างค่าโดยสาร ขณะที่ผลักดันตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศระบบราง” เป็นเซ็นเตอร์ประสานการพัฒนางานระบบรางในทุกมิติ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่าขณะนี้ได้ปรับปรุงแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.และคาดว่าจะมีการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดว่าจะมีการประชุมในเดือน พ.ค.นี้ และหากหากได้รับความเห็นชอบ จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งจะทำให้ ร.ฟ.ท.นำแผนฟื้นฟูไปดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้
ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูการรถไฟฯ ได้ปรับเป็นการบูรณาภาพรวม ทั้งเรื่องรายได้ รายจ่าย กฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟทางคู่หลายเส้นทาง สำหรับการเพิ่มจำนวนบุคลากรเพื่อรองรับกับงานที่จะเพิ่มขึ้นนั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอครม.เพื่อขอยกเว้นมติครม.ที่จำกัดการรับพนักงานรถไฟได้ 5%
“การให้บริการของรถไฟในช่วงนี้ซึ่งจะเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ภายใต้อัตรากำลังที่คาดว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการได้” นายไพรินทร์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า วัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูรถไฟจะมีการเพิ่มรายได้และบริหารรายจ่ายจากธุรกิจเดินรถและการบริหารทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีการจัดตั้งบริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สิน หาก ครม.อนุมัติแผนฟื้นฟูจะดำเนินการจัดตั้งได้ทันที และเริ่มโอนงานบางส่วนให้บริษัทลูกช่วงปลายปีก่อนเริ่มทยอยนำที่ดินของ ร.ฟ.ท.เปิดประมูลและสร้างรายได้ในต้นปี 2562
ในส่วนโครงสร้างค่าโดยสารใหม่นั้นจะมีค่าแรกเข้า (10 บาท) บวกกับค่าโดยสารเพิ่ม 50% ตามระยะทาง โดยชั้น 3 ระยะทาง 0-100 กม. เท่ากับ 0.323 บาท/กิโลเมตร ขณะที่ปัจจุบันค่าโดยสารชั้น 3 ระยะทาง 1-100 กม. เท่ากับ 0.215 บาท/กิโลเมตร ซึ่งโครงสร้างค่าโดยสารใหม่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 30% อย่างไรก็ตามจากประมาณการรายได้และรายจ่ายในช่วง 10 ปี (2560-2570) คาดว่าจะมีผลประกอบการจะเป็นบวกในปี2563 เป็นต้นไป ขณะที่ปัจจุบัน รถไฟมีภาระหนี้สินรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท (ไม่รวมหนี้สินของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์)
ดันตั้งศูนย์ความเป็นเลิศระบบราง เป็นเซ็นเตอร์ประสานการพัฒนาทุกมิติ
นายไพรินทร์กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นแนวทางการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศระบบราง ว่าจากการที่รัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางเป็นจำนวนมาก ขณะที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงคมนาคม ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จึงได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสม ในการจัดตั้งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศระบบราง
ทั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศระบบรางจะเป็นศูนย์ในการรวบรวมจัดการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านระบบราง ให้การสนับสนุนในการกำหนดนโยบายการพัฒนาขนส่งระบบรางของประเทศ ผลิตและพัฒนาบุคลากรทุกระดับในระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง สร้างงานวิจัยพัฒนาเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเทคโนโลยี โดยจะขึ้นตรงต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นหน่วยประสานงานและทำงานคู่ขนานกับกรมการขนส่งทางรางนั้นจะทำให้เป็นผู้กำกับดูแล Regulator ออกระเบียบข้อกำหนดต่างๆ ขณะที่ศูนย์ความเป็นเลิศระบบรางจะทำงานควบคู่กันไป โดยเป็นหน่วยงานด้านวิชาการ และเป็นหน่วยงานกลางให้กับหน่วยที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาระบบรางทั้งภาครัฐและภาคเอกชน