xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฯ ครบ 121 ปี เร่งยกระดับบริการ เปิดรถสีแดง, พัฒนาที่ดิน ตั้งธงปี 66 พลิกฟื้นมีกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รถไฟครบรอบ 121 ปี มุ่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาบริการ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีหลัก “บางซื่อ มักกะสัน แม่น้ำ” คาดปี 66 พลิกมีกำไร รายได้โตจากการเดินรถสายสีแดง เพิ่มประสิทธิภาพจากการเปิดเดินรถไฟทางคู่

วันนี้ (26 มี.ค. 61) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมในงานวันคล้ายวันสถาปนาการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ครบรอบ 121 ปี โดยนายอาคมกล่าวว่า การดำเนินงานของ ร.ฟ.ท.ในช่วง 8 ปีนับจากนี้ไปจะเน้น 3 เรื่อง คือ 1. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2. การให้บริการ ขณะนี้มีรถไฟรุ่นใหม่ให้บริการอยู่แล้ว 5 ขบวน ในอนาคตจะเพิ่มรถไฟขบวนใหม่สำหรับรถไฟทางคู่ที่มีความต้องการมากขึ้น ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างจัดหาขบวนรถเข้ามาเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่ที่เพิ่มขึ้น และรถหัวจักรดีเซล พร้อมทั้งปรับปรุงตั๋วให้ทันสมัย ง่ายต่อการจองตั๋ว และการใช้ตั๋วร่วม และ 3. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยใช้สถานีหลักคือ บางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีแม่น้ำ

ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทางรวม 681 กิโลเมตร (กม.) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเดือน พ.ค. 61 จากเดิมคาดว่าจะเสนอเข้าได้ในเดือน เม.ย. 61 เนื่องจากต้องรอให้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) เสียก่อน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การพัฒนาของการรถไฟฯ ในปีนี้ได้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมือง เร่งพัฒนารถไฟทางคู่และสายใหม่อีก 16 เส้นทาง พัฒนารถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง และรถไฟเชื่อมโยงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 4 โครงการ

ส่วนการพัฒนาการบริการ ได้แก่ การพัฒนาระบบจำหน่ายตั๋ว D-Ticket การจัดหารถไฟดีเซลราง 186 คัน แผนการจัดหารถจักรและรถพ่วง การพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าทางรางทั่วประเทศ และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ การพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ 4 แห่ง คือ (1) ย่านสถานีกลางบางซื่อ พื้นที่พัฒนา 1,100 ไร่ (2) ย่านสถานีมักกะสัน พื้นที่พัฒนา 497 ไร่ (3) ย่านสถานีแม่น้ำ พื้นที่พัฒนา 277 ไร่ และ (4) โรงแรมหัวหิน พื้นที่พัฒนา 72 ไร่ และการพัฒนาย่านสถานีรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 13 ย่านสถานี พื้นที่การพัฒนารวม 657 ไร่ และระยะที่ 2 อีก 12 ย่านสถานี พื้นที่การพัฒนารวม 1,685 ไร่ และการพัฒนาย่านสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 7 ย่านสถานี พื้นที่การพัฒนารวม 97 ไร่

นายอานนท์กล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูคาดว่าในปี 64 หลังจาก ร.ฟ.ท.เดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้วจะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวก และคาดว่าในปี 66 จะเริ่มมีกำไร ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาจากการเดินรถไฟสายสีแดง และรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งการขยายเส้นทางรถไฟทางคู่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เมื่อโครงการต่างๆ พัฒนาแล้วเสร็จจะทำให้มีผู้โดยสารโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 79.90 ล้านคน/ปี ความเร็วเฉลี่ยรถไฟโดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (จากเดิม 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ปริมาณสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 46.86 ล้านตัน/ปี สัดส่วนปริมาณการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 10% (จากปี 2558 อยู่ที่ 1.4%) ความเร็วเฉลี่ยในการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง (จากเดิม 39 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ต้นทุนลอจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลงเป็น 11.9% (จากปี 2556 อยู่ที่ 14.2%) และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลงเป็น 6.7% (จากปี 2558 อยู่ที่ 7.4%)

นายอานนท์กล่าวว่า นิทรรศการงานวันคล้ายวันสถาปนาการรถไฟ ครบรอบ 121 ปี โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. ณ บริเวณโถงกลางสถานีกรุงเทพ ซึ่งภายในงานมีนิทรรการความเป็นมาของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สืบเนื่องถึงปัจจุบัน และอนาคต และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรม “คนอวดของ” โดยบรรดาแฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น