“อาคม” เร่งทีโออาร์รถไฟ 3 สนามบินเคลียร์ปมเขตทางรถไฟช่วง บางซื่อ-รังสิต ลดซ้ำซ้อน เล็ง 3 สนามบินใช้ทางร่วมญี่ปุ่นหรือจีน ส่วนรถไฟไทย-จีน ระยะ 2 “โคราช-หนองคาย” จ่อของบกลางปี 61 เริ่มออกแบบ “อานนท์” เผยทีโออาร์ 3 สนามบินยังติดประเด็นสัดส่วนต่างชาติเกิน 50% หรือไม่ และบริษัทจีนแยกประมูล หวั่นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน พร้อมเปิดช่องเจรจาการใช้รางร่วมในบางช่วงเพื่อลดต้นทุน มั่นใจสรุปไม่เกินต้น เม.ย.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน ซึ่งได้เร่งดำเนินการออกแบบ ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 394 กิโลเมตร ซึ่งไทยจะดำเนินการออกแบบรายละเอียดเอง โดยมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำแผนเสนองบประมาณ ส่วนรถไฟความเร็วสูงความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นนั้น ได้เร่งให้สรุปรายงานการศึกษา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เร่งรัดการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานที่คณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำหนด ซึ่งเบื้องต้นทุกโครงการยังอยู่ในแผนงาน
ทั้งนี้ ในส่วนของแนวเส้นทางช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งมีทั้ง 3 โครงการที่ต้องใช้พื้นที่เขตทางรถไฟที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งในหลักการเขตทางมีเพียงพอในการให้บริการทั้ง 3 โครงการ โดยจะต้องพิจารณารูปแบบการใช้งาน ความปลอดภัยกรณีที่จะใช้ทางร่วมกันในบางโครงการ ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและเหมาะสม
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ทั้ง 3 โครงการจะต้องศึกษาร่วมกัน ซึ่งขณะนี้มีแนวคิดหลายแบบในกรณีที่อาจจะต้องมีการใช้รางขนาด 1.435 เมตร ร่วมกันในบางโครงการ ภายใต้การเจรจา ซึ่งจะมีการกำหนดไว้ในทีโออาร์ การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เช่น กรณีบริษัทญี่ปุ่นได้รับคัดเลือกบริหารรถไฟ 3 สนามบิน อาจจะเจรจาให้ใช้รางร่วมกับรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เพื่อให้รถไฟเชื่อม 3 สนามบินสามารถวิ่งทะลุไปถึงพิษณุโลก-เชียงใหม่เลย หรือหากเป็นบริษัทจีนได้รับงาน รถไฟ 3 สนามบินจะเจรจาเช่นเดียวกันเพื่อให้ใช้รางร่วมกับรถไฟไทย-จีน และให้รถไฟวิ่งทะลุไปถึงโคราช และหนองคาย หรือหากเป็นกรณีบริษัทยุโรปได้งาน รถไฟ 3 สนามบินก็จะเจรจาเช่นเดียวกัน ขึ้นกับว่าจะสามารถปรับระบบให้เข้ากับโครงการใดได้
“ตอนนี้เป็นแนวคิด หากจะทำก็ต้องเขียนระบุไว้ในทีโออาร์ประมูลรถไฟ 3 สนามบินว่าจะมีการเจรจาในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้รถไฟความเร็วสูงวิ่งทะลุผ่านบางซื่อไปยังหนองคายหรือเชียงใหม่ได้แล้ว ยังลดความซ้ำซ้อนและประหยัดค่าลงทุนได้” นายอานนท์กล่าว
****ทีโออาร์ 3 สนามบินยังต้องเคลียร์ปมสัดส่วนต่างชาติ และการถือหุ้นไขว้
ส่วนความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบินนั้น นายอานนท์กล่าวว่า คณะกรรมการร่างทีโออาร์ได้ประชุมมา 9 ครั้ง ขณะนี้มีความก้าวหน้า 70-80% แล้ว จะสรุปร่างทีโออาร์ให้เสร็จภายในเดือน มี.ค. หรืออย่างช้าต้นเดือน เม.ย. และจะประกาศร่างทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลได้ตามเป้าหมาย โดยขณะนี้ยังเหลือประเด็นที่ต้องตัดสินใจในเรื่องสัดส่วนของต่างชาติที่จะเข้ามาร่วมลงทุนว่าควรจะไม่เกิน 49% ไทย 51% หรือจะให้ต่างชาติเกิน 50% ได้ เพราะถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องตอบคำถามสังคมและอาจถูกครหาเรื่องให้ประโยชน์ต่างชาติมากเกินไป
นอกจากนี้ยังมีประเด็นกรณีที่อาจจะมีบริษัทจีนยื่นประมูลใน 2 กลุ่ม ซึ่งอาจจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากบริษัทจีนส่วนใหญ่มีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นด้วย ดังนั้นหากมีบริษัทจีน 2 บริษัทแยกประมูลกันคนละกลุ่มจะเกิดปัญหา เพราะมีรัฐบาลจีนถือหุ้นเหมือนกัน เข้าข่ายเป็นการถือหุ้นไขว้และมีประโยชน์ทับซ้อนกันของ 2 กลุ่ม ดังนั้นจะต้องเขียนทีโออาร์ให้ละเอียดรอบคอบและมีความชัดเจน ไม่เกิดการตีความ และต้องเปิดกวางให้เกิดการแข่งขันอีกด้วย
***ของบกลางปี 61 เริ่มศึกษาออกแบบรถไฟไทย-จีน ระยะ 2 “โคราช-หนองคาย”
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงในความร่วมมือไทย-จีนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระยะแรก เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กม. วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้าน ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธาช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ขณะที่ตอนที่ 2 ช่วงปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11.5 กม. จีนได้ส่งแบบมาแล้ว อยู่ระหว่างการปรับแก้ พร้อมกันนี้ เตรียมเสนอของบประมาณเพื่อศึกษาออกแบบรถไฟความเร็วสูงในความร่วมมือไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 394 กม. วงเงินกว่า 1 พันล้านบาท โดยในปี 61 จะของบกลางปี ประมาณ 30-40 ล้านบาทเพื่อเริ่มต้นการศึกษา
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานร่วมรถไฟไทย-จีนจะประชุมครั้งที่ 24 ที่พัทยา ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-20 เม.ย.นี้