สหภาพฯ การบินไทย พร้อมด้วยพนักงาน และตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ยื่นหนังสือร้อง “นายกฯ” ขอให้บริษัทฯ คืนเงินสมทบส่วนที่บริษัทจ่ายและผลประโยชน์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่พนักงานที่ลาออก
วันนี้ (6 มีนาคม 2561) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และพนักงานการบินไทยที่ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ยังคงเป็นพนักงานอยู่ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้บริษัทฯ คืนเงินสมทบส่วนที่บริษัทจ่ายและผลประโยชน์คืนให้แก่พนักงาน ณ ศูนย์รับเรื่องรางร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาธิต สุทธิเสริม ผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นผู้แทนรับหนังสือ และจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพฯ การบินไทย กล่าวว่า เนื่องจากพนักงานประมาณ 500 คนได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แต่ยังคงเป็นพนักงานอยู่ เพราะเหตุความจำเป็นในครอบครัว ทำให้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะข้อบังคับกองทุนกำหนดว่า “กองทุนจะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่สมาชิกเมื่อสมาชิกลาออกจากกองทุน และให้บริษัทจัดการโอนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบกลับเข้าบริษัท โดยถือเป็นรายได้ของบริษัทในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น” จึงทำให้พนักงานที่ลาออกจากกองทุนแต่ยังคงเป็นพนักงานอยู่ต้องสูญเสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบตามวัตถุประสงค์และที่กำหนดไว้ พ.ร.บ.กองทุนฯ ต้องสูญเสียโอกาสที่จะได้รับเงินดังกล่าวเมื่อพ้นสภาพการเป็นพนักงาน โดยไม่มีความผิดวินัยและทำให้บริษัทการบินไทยได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.กองทุน มาตรา 5 กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน โดยลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับ
นั่นคือเจตนารมณ์ของกฎหมายกำหนดให้ เงินกองทุน เป็นของลูกจ้าง โดยนายจ้างจะจ่ายให้ลูกจ้างแม้ว่าจะด้วยเหตุลาออกจากกองทุน แต่ข้อบังคับของกองทุนของการบินไทยดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าขัดกับที่กำหนดในกฎหมาย
อีกประการที่น่าเชื่อว่าข้อบังคับของกองทุนฯ ขัดกับที่กำหนดในกฎหมาย คือ ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ มาตรา 9(8) ที่กำหนดว่า “ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาในการจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพหรือเมื่อเลิกกองทุนตามมาตรา 25 ทั้งนี้ ข้อกำหนดนั้นจะต้องไม่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร” จะเห็นว่าข้อบังคับมีความขัดแย้งกับบทบัญญัติกฎหมาย
สหภาพแรงงานฯ เห็นว่า การที่สมาชิกลาออกจากกองทุนฯ เป็นสิทธิที่สมาชิกสามารถทำได้ และไม่ได้ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นความผิดทางวินัยที่นายจ้างจะใช้เป็นเหตุไม่ต้องจ่ายผลตอบแทนใดๆ แก่พนักงาน การที่บริษัทฯ นำเงินสมทบและผลประโยชน์ไปเป็นรายได้ในรอบระยะบัญชีนั้น เงินนี้สมควรเป็นของพนักงานหรือเป็นรายได้จากผลการดำเนินกิจการของบริษัทฯ