“ไพรินทร์” ตรวจสนามบินหัวหิน หารือแนวทางเพื่อส่งเสริมและดึงดูดเพิ่มนักท่องเที่ยวใช้บริการ แผนพัฒนา สร้างเอกลักษณ์ จุดเด่นดึงดูดนักท่องเที่ยว พร้อมตั้งงบปี 62 -63 เกือบ 500 ล้านบาทพัฒนาระบบบริการและด้านความปลอดภัย
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ท่าอากาศยานหัวหินเพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของท่าอากาศยาน และการเตรียมความพร้อมในการรองรับเที่ยวบินต่างประเทศ โดยหารือถึงแนวทางการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมด้านการบิน ณ ท่าอากาศยานหัวหินเพิ่มมากขึ้น และได้เน้นย้ำให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) สร้างเอกลักษณ์ท่าอากาศยานหัวหินให้มีจุดเด่นเป็นที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
แนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานของท่าอากาศยานหัวหินเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความและปลอดภัยในการเดินอากาศ ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารนั้น ในปัจจุบัน สนามบินหัวหินสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนขาเข้า-ออกได้จำนวน 300 คน/ชั่วโมง และอาคารที่พักผู้โดยสารสามารถรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมดจำนวน 864,000 คน/ปี
ในปี 2560 รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ จำนวน 278 เที่ยว มีผู้โดยสารจำนวน 2,780 คน และรองรับเที่ยวบินฝึกบิน ทหาร ราชการฝนหลวง จำนวน 26,330 เที่ยว
ในเดือนเมษายน 2561 จะมีเที่ยวบินพาณิชย์ของสายการบินแอร์เอเชีย (มาเลเซีย) ทำการบินเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หัวหิน โดยให้บริการวันละ 2 เที่ยวบิน
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินหัวหิน ได้แก่ การแก้ไขข้อบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัย ประกอบด้วย 1) ระบบจัดการรักษาความปลอดภัยพื้นที่การบินและเครือข่ายดาวเทียม 2) เครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบ EDS พร้อมสายพานลำเลียงสัมภาระ ห้องควบคุมและอุปกรณ์ วงเงินทั้งหมดจำนวน 123,400,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2562 และงานปรับปรุงขยายความกว้างทางวิ่งและลานจอดเครื่องบิน เพื่อขยายความกว้างทางวิ่งจากเดิม 35x2,100 เมตร เป็น 45x2,100 เมตร และขยายลานจอดให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาด B737 จากจำนวน 2 ลำ เป็นจำนวน 5 ลำในเวลาเดียวกัน ใช้วงเงินทั้งหมดจำนวน 350,000,000 บาท ขณะนี้เตรียมจัดทำแผนงานโครงการสำหรับปีงบประมาณ 2563 และงานซ่อมแซมและปรับปรุงภายในอาคาร
สำหรับท่าอากาศยานหัวหินตั้งอยู่ที่ถนนเพชรเกษม อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีเนื้อที่ 450 ไร่โดยประมาณ ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสาร 1 หลัง ขนาด 7,200 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง และทางวิ่ง ขนาด 2,100 x 35 เมตร ลานจอดอากาศยาน 2 ลานจอดขนาด 85 x 90 เมตร และ 140 x 170 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาด B737 จำนวน 1 ลำ ATR-72 จำนวน 2 ลำ และ Helicopter 1 ลำ ในเวลาเดียวกัน