xs
xsm
sm
md
lg

ถกตั้ง “องค์กรพิเศษ” คุมรถไฟไทย-จีน “ไพรินทร์” เผยตั้งใหม่ต้องอิสระจาก ร.ฟ.ท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไพรินทร์” ถกแนวทางจัดตั้ง “องค์กรพิเศษ” ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนนัดแรก ยึดมติ ครม.คล่องตัว มีอิสระจากรถไฟ สั่งพิจารณารายละเอียด 2 เดือนหารือใหม่ เผยแนวตั้งบริษัท จำกัด มีรถไฟถือหุ้นแต่ในสัดส่วนไม่มาก และดึงรัฐวิสาหกิจชั้นนำที่มีกำไรร่วมถือหุ้น

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้จัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อรองรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงในความร่วมมือระหว่างไทย-จีน โดยให้เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว มีอิสระจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ คณะอนุฯ คือ สำนักงานบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนารถไฟระหว่างไทย-จีน และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาแนวทางจัดตั้งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเจตนาของ ครม. และให้นำเสนอคณะอนุฯ ในอีก 2 เดือน

รูปแบบของการจัดตั้งองค์กร ในส่วนของภาครัฐมี 4 รูปแบบ คือ 1. หน่วยงานราชการ 2. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (ทั่วไป, จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) 3. องค์กรมหาชน 4. SDU หรือหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ( Service Delivery Unit) ส่วนเอกชนมี 4 รูปแบบ โดยองค์กรที่ไม่หวังกำไร คือ สมาคม และมูลนิธิ ส่วนที่มุ่งหวังกำไร คือ ห้างหุ้นส่วน จำกัด บริษัทจำกัด, บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“ในโลกนี้มีรูปแบบการจัดตั้งองค์กรเท่านี้ ดังนั้นต้องมาดูว่าความเป็นอิสระสามารถลดภาระงบประมาณของรัฐจะเป็นอย่างไร แนวทางควรจะสามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้หรือไม่ ตอนนี้เท่าที่ดูตามแนวทางของ ครม.กรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ เหลือรูปแบบรัฐวิสาหกิจที่มีความเป็นไปได้ ส่วนจัดตั้งเป็นหน่วยงานราชการ, องค์กรมหาชน, SDU อาจต้องตัดออก ส่วนกรณีเป็นเอกชน อาจจะเป็นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งให้เวลาศึกษา 2 เดือน ขณะนี้รถไฟไทย-จีนเพิ่งเริ่มก่อสร้าง และจะใช้เวลาก่อสร้างอีกอย่างน้อย 4-5 ปี ยังมีเวลาอีก” นายไพรินทร์กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) และให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับการของ ร.ฟ.ท.เพื่อดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ โครงสร้างองค์กรมีความคล่องตัวในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง

เบื้องต้นให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังเป็นผู้ขจัดหาเงินกู้ ส่วนหลักการจัดตั้งองค์กรพิเศษนั้น ในส่วนที่รับผิดชอบงานด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้นควรเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นมากกว่าเอกชน คือ 51% ต่อ 49 % ซึ่งในส่วนของ 51% ที่เป็นของรัฐนั้นไม่จำเป็นต้องให้ ร.ฟ.ท.ถือทั้งหมด สามารถเปิดให้รัฐวิสาหกิจอื่นที่มีประสิทธิภาพมีผลประกอบการที่ดี เช่น ปตท. การเคหะ ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เป็นต้น เข้ามาร่วมได้ ส่วนการเดินรถ สามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ และจ่ายค่าใช้รางกับองค์กรพิเศษ ซึ่งจะมีการพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมที่สุดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น