xs
xsm
sm
md
lg

คจร.ไฟเขียว “ด่วน N2 พ่วงโมโนเรลสีน้ำตาล” เคาะจอดแล้วจร 46 แห่งดึงใช้รถไฟฟ้าเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คจร.เห็นชอบผลศึกษาพัฒนาทางด่วน N2 และส่วนทดแทน N1 แก้จราจรแยกเกษตร พร้อมมอบ กทพ.ออกแบบโครงสร้างรองรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลบนแนวเกษตร-นวมินทร์ และเห็นชอบพัฒนาจุดจอดแล้วจร (Park and Ride) 46 แห่ง รองรับรถได้ 4 หมื่นคัน หวังจูงใจใช้รถไฟฟ้าเข้าเมือง เร่งนำร่อง 3 แห่งที่สถานีกาญจนาภิเษกของสายสีแดงอ่อน, คลองบางไผ่ของสีม่วง และตลาดพลูของสีเขียว

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2561 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 21 ก.พ. ได้เห็นชอบรูปแบบการพัฒนาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก โดยใช้ประโยชน์เสาตอม่อบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจที่ก่อสร้างไว้แล้วพร้อมกับการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปบนสายทางเดียวกัน โดยได้มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาระยะเวลาการพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนแม่บทระบบรางใน กทม. และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พัฒนาทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 และ E-W Corridor และทางด่วนทดแทนตอน N1 เพื่อลดผลกระทบการจราจรบริเวณแยกเกษตร และให้ออกแบบโครงสร้างรองรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ คจร.ยังได้พิจารณาโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองภูมิภาค โดยรับทราบผลการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือTramway) มี 24 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง เริ่มต้นบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา สิ้นสุดที่ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 58.525 กม. ได้บรรจุไว้ใน PPP Fast Track ปี 2560 โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างศึกษารายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในปี 2561

ส่วนแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่และนครราชสีมาได้ศึกษาเสร็จเมื่อ ต.ค. 2560 ซึ่งได้มอบให้ รฟม.รับผิดชอบในขั้นตอนการลงทุนและการก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยอาจหารือท้องถิ่นถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันต่อไป สำหรับแนวทางการลงทุนเสนอให้เป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1 รัฐลงทุน 100% รูปแบบที่ 2 PPP รัฐลงทุนงานโยธา เอกชนลงทุนงานระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้า (M&E) และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า และรูปแบบที่ 3 PPP รัฐร่วมเอกชนจัดตั้งบริษัท และระดมทุน (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน)

โครงข่ายแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความเหมาะสม จำนวน 2 โครงข่าย คือ โครงข่าย A ประกอบด้วย 1) ระบบหลัก เป็นรถไฟฟ้าแบบรางเบา (Light Rail Transit: LRT) 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดง สายสีน้ำเงิน และสายสีเขียว รวมระยะทาง 34.93 กิโลเมตร 2) ระบบรอง เป็นรถโดยสารประจำทาง จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 89 กิโลเมตร แต่ละเส้นทางสามารถวิ่งร่วมกับการจราจรปกติ หรือมีเขตทางพิเศษบางส่วน (Bus Lane) และ 3) ระบบเสริม เป็นรถโดยสารประจำทางในเมือง จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 85 กิโลเมตร วิ่งร่วมกับการจราจรปกติในเขตเมือง

และโครงข่าย B ประกอบด้วย 1) ระบบหลัก เป็น LRT 3 เส้นทาง และมีแนวเส้นทางเช่นเดียวกับโครงข่าย A แต่โครงสร้างทางวิ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งระดับดินทั้งหมด รวมระยะทาง 41.49 กิโลเมตร 2) ระบบรอง เป็นรถโดยสารสาธารณะ 7 เส้นทาง มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับโครงข่าย A และ 3) ระบบเสริม เป็นรถโดยสารสาธารณะ 7 เส้นทาง มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับโครงข่าย A

ส่วนระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดขอนแก่น ผลศึกษาเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT) โดยรัฐเวนคืนที่ดินแล้วให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งานระบบและจัดหาตัวรถ ดำเนินการและบำรุงรักษา กำหนดเส้นทางนำร่อง ได้แก่ แนวเหนือ-ใต้ (บ้านสำราญตำบลสำราญ-ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น) ระยะทาง 22.8 กม., ระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก การศึกษามี 3 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดปกติ (Regular Bus) รถโดยสารขนาดเล็ก (Micro Bus) และรถรางล้อยาง (Auto Tram)

***เคาะจุดจอดแล้วจร 3 ระยะ รวม 46 จุด เร่งนำร่องก่อน 3 จุด

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า คจร.เห็นชอบแผนแม่บทจุดจอดแล้วจร (Park and Ride) จำนวน 46 จุดตามแนวรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1. ระยะเร่งด่วน โครงการที่เปิดให้บริการแล้วและที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2562 จำนวน 17 สถานี 2. ระยะกลาง ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563-2565 จำนวน 24 สถานี และ 3. ระยะยาว ก่อสร้างในปี 2566-2572 จำนวน 5 สถานี โดยกำหนดโครงการนำร่อง 3 แห่ง คือ บริเวณสถานีกาญจนาภิเษก (รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน), สถานีคลองบางไผ่ (สายสีม่วง) และสถานีตลาดพลู (สายสีเขียว) เพื่อจูงใจให้ประชาชนจอดรถไว้นอกเมือง และเดินทางเข้าเมืองด้วยรถไฟฟ้า การพัฒนาจุดจอดแล้วจรบางแห่งยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งแผนพัฒนาดังกล่าวจะรองรับรถได้ประมาณ 4 หมื่นคัน


กำลังโหลดความคิดเห็น