EEC เร่งศึกษาการพัฒนาเมืองใหม่รอบสนามบินอู่ตะเภารัศมี 10-20 กิโลเมตรรับมหานครการบินในปี 2565 คาดผลศึกษาแล้วเสร็จใน 18 เดือนเน้นไม่ให้แออัดซ้ำรอยกรุงเทพฯ รับต้องรีบจัดระบบผังเมืองไว้ล่วงหน้า ส่งสัญญาณบางที่อาจต้องเวนคืน ห้ามพัฒนาไร้รูปแบบ
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวในงานสัมมนา “โครงการศึกษาเมืองการบินภาคตะวันออก” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและจัดทำแผนงานเชิงกลยุทธ์การพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค ซึ่งขณะนี้การศึกษาอยู่ในช่วงระยะที่ 2 คาดจะแล้วเสร็จภายใน 18 เดือนซึ่งจะลงรายละเอียดในแต่ละโครงการที่จะเกิดขึ้นเพื่อยกระดับให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นมหานครแห่งการบิน (EEC Aerotropolis) ในปี 2565
“การพัฒนาเมืองการบินนั้นจะก่อให้เกิดการขยายของเมืองโดยรอบในรัศมี 10-20 กิโลเมตรครอบคลุม 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) ตามไปด้วย เราจึงต้องมาพิจารณาว่าการพัฒนาจะต้องไม่ให้ซ้ำรอยกับการขยายเมืองของกรุงเทพมหานครที่มีความแออัดและไม่มีการวางผังเมือง ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่แค่พร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภค แต่จะต้องมองทั้งเรื่องของคุณภาพชีวิต อุตสาหกรรรมที่จะเกิดขึ้นแต่ละส่วนว่าจะวางอย่างไร ซึ่งบางพื้นที่อาจจำเป็นต้องเวนคืน บางที่จำเป็นต้องกันไว้อย่าเพิ่งทำอะไร” นายคณิศกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้วางงบศึกษาเมืองการบินภาคตะวันออกรวม 17 ล้านบาท โดยมอบให้นายจอนห์ ดี คาซาดา (John D.Kasarda) ที่ปรึกษาด้านการบินและผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองการบินร่วมทำงานกับทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด และสถาบันขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฟสแรกการศึกษาจะเป็นการมองวิสัยทัศน์ในภาพกว้างซึ่งนายจอนห์มีความชำนาญการออกแบบเมืองการบินมาหลายที่ แต่เฟส 2 จะลงลึกรายละเอียดถึงการพัฒนาเมือง การดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ฯลฯ
สำหรับการลงทุนพัฒนาเมืองการบินและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ จะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 2.5 แสนล้านบาท หากรวมกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องคาดว่าจะเกิดการลงทุนหลายแสนล้านบาท โดยขอบเขตพื้นที่จะแบ่งเป็น 1. พื้นที่ในเขตเมืองสนามบิน 6,500 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมการบิน ลอจิสติกส์ เขตการค้าเสรี 2. พื้นที่โดยรอบสนามบินชั้นในมีรัศมีครอบคลุมพื้นที่โดยรอบห่างจากสนามบิน 10 กิโลกเมตร ที่จะแบ่งโซนการพัฒนารองรับเมืองการบิน 3. พื้นที่โดยรอบสนามบินชั้นนอกครอบคลุม 3 จังหวัดอีอีซี ทำให้เกิดการขยายตัวเมือง ธุรกิจ และอุตสาหกรรม
นาย John D.Kasarda ที่ปรึกษาด้านการบินและผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองการบินระดับโลก กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการเกิดขึ้นได้ตามแผน รัฐบาลต้องมีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายอีอีซี การพัฒนาเมืองและสามารถเชื่อมโยงระบบการขนส่งได้ตามแผนโดยเร็วที่สุด รวมทั้งยกระดับการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความพร้อมตอบโจทย์ความต้องการแรงงานที่มีทักษะและความเชื่ยวชาญเฉพาะทางป้อนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
นางจริยา บุณยะประภัศร ผู้จัดการโครงการศึกษาเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาจะเป็นการขยายจากเมืองเดิม และเมืองที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมและลอจิสติกส์รองรับประชากรที่ทำงานในเมืองสนามบินและพื้นที่อุตสาหกรรม การค้า การบริการ ท่องเที่ยว ยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ