ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดดูแลเส้นผม 4,000 ล้านบาทลุ้นกลับมาโต 5% ในปีนี้หลังเศรษฐกิจเริ่มโงหัวขึ้น ด้านเฮงเคลเสริมแกร่ง “ชวาร์สคอฟ” หลังซื้อมาอีก 2 แบรนด์เสริมพอร์ต คือ จอยโก้ กับ โซโตส หวังไล่บี้ผู้นำ เร่งดันเข้าร้านซาลอนเพิ่มอีก
นายธีรศักดิ์ ไตรทิพย์ ผู้จัดการทั่วไป ชวาร์สคอฟ โปรเฟสชั่นแนล ประเทศไทย กลุ่มบริษัท เฮงเคล จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่เฮงเคลโกลบอลบรรลุข้อตกลงในการซื้อ 2 แบรนด์ดัง คือ JOICO กับ ZOTOS จากทางกลุ่มชิเซโดเฉพาะในตลาดอเมริกาเหนือกับเอเชียเรียบร้อยเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2560 ส่งผลให้บริษัทฯ เริ่มทำตลาดเองเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ การได้อีก 2 แบรนด์นี้เข้ามาเสริมในพอร์ตโฟลิโอจะยิ่งช่วยทำให้กลุ่มชวาร์สคอฟ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับที่สองในตลาดประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบและเข้มแข็งมากขึ้นในตลาดจัดแต่งทรงผมระดับโปรเฟสชันนัล โดยมีผลิตภัณฑ์รวมกันมากกว่า 1,000 เอสเคยู ตลาดหลักคือ กลางขึ้นบน ขณะที่อันดับหนึ่งในไทยคือ ลอรีอัล ซึ่งทำให้ช่องว่างห่างกันไม่มากนัก และบริษัทฯ เองก็มีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับที่ 1 ในตลาดเมืองไทยให้ได้ภายใน 5 ปีจากนี้
สำหรับตลาดรวมผลิตภัณฑ์ดูแลแส้นผมในไทยมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท แยกเป็นสินค้าในไทยกับจีน และสินค้าอินเตอร์แบรนด์สัดส่วนเท่ากัน และแยกเป็น 4 เซกเมนต์ คือ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการยืด สัดส่วนตลาด 30%, สีผม สัดส่วน 30%, แคร์ สัดส่วน 30% ที่เหลืออีก 10% เป็นกลุ่มสไตลิ่ง ซึ่งพบว่ากลุ่มสีเป็นกลุ่มที่เติบโตดีมากที่สุดในขณะนี้ จากเดิมกลุ่มยืดโตมากที่สุด
“ตลาดรวมปี 2561 นี้ยังคงมีการแข่งขันที่ดุเดือด และทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก และเอเชีย รวมทั้งไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว คาดว่าตลาดรวมปีนี้จะโต 5% แต่ละรายต่างนำกลยุทธ์มาใช้ทำให้ตลาดเติบโตต่อเนื่องเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ซึ่งปีที่แล้วตลาดรวมเติบโตน้อยไม่เกิน 5% เป็นอย่างนี้มาเกือบ 3 ปีแล้ว จากเดิมเมื่อช่วงก่อนนี้เคยโตมากกว่า 5% และอดีตเคยโตสูงสุด 10% มาแล้ว ส่วนแนวทางการแข่งขันในตลาดจะเน้นเรื่องสินค้ามีนวัตกรรม การศึกษาให้ความรู้กับตลาด สิ่งสนับสนุนต่างๆ ซึ่งตลาดรวมในเอเชียยังหวังโต 2 หลัก เพราะคนเอเชียและคนไทยยุคนี้มีความเข้าใจเทรนด์ความงามและสินค้าด้านเส้นผมอย่างมาก
ในส่วนของชวาร์สคอฟฯ ก็มีการปรับแผนการตลาดเพื่อให้เข้ากับเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จะเน้นการส่งเสริมให้ความรู้แก่คู่ค้า การออกสินค้าที่มีนวัตกรรม การสนับสนุนการบริหารจัดการร้านซาลอนที่เป็นลูกค้าหลัก รวมทั้งการทำตลาดแบบดิจิตอล ซึ่งชวาร์สคอฟฯ เป็นเจ้าแรกๆ ที่มุ่งเน้นด้านนี้ เช่น ทำแอปพลิเคชันสำหรับช่างเสริมสวย เช่น แอปพลิเคชัน House of Color เหมือนสารานุกรมสำหรับทำผมในการทำสี หรือแอปพลิเคชัน Essential Looks ที่อัปเดตแฟชั่นทรงผม เป็นต้น
นายธีรศักดิ์กล่าวต่อว่า ตลาดหลักมี 2 ช่องทาง คือ ร้านซาลอน ร้านเสริมสวย กับเอนด์ยูสเซอร์ เราก็จะขยายตลาดทั้งหมด ซึ่งร้านซาลอนที่มีอยู่ประมาณ 30,000-50,000 ร้าน ทั่วประเทศก็ต้องพยายามที่จะนำผลิตภัณฑ์ของเราไปเข้าในซาลอนให้ได้มากที่สุด โดยเฉลี่ยจะเพิ่มปีละ 2 หลัก จากปัจจุบันชวาร์สคอฟฯ เข้าได้แล้วประมาณ 30% ของร้านซาลอนทั้งหมด