“ไพรินทร์” ตรวจความคืบหน้ารถไฟฟ้าสีน้ำเงินต่อขยายสถานีวัดมังกร และสนามไชย ย้ำ ก.ย. 62 เปิดเดินรถช่วง “หัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง” ทางเลือกการเดินทางผ่านพื้นที่แออัดย่านเยาวราช-เกาะรัตนโกสินทร์ ได้เป็นอย่างดี พร้อมแนะ รฟม.ใช้แนวคิดการออกแบบสถานีให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และชูความโดดเด่นแต่ละย่านเพื่อลดความจำเจ เชื่อดึงดูดให้ผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มได้
วันนี้ (12 ก.พ.) นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางตรวจเยี่ยมสถานีวัดมังกร โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ โดยมีนายฤทธิกา สุภารักษ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วยผู้บริหาร รฟม. ผู้แทนบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างสัญญาที่ 2 ทางใต้ดิน ช่วงสนามไชย-ท่าพระ ระยะทาง 2.6 กม. และผู้บริหารบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความคืบหน้า
นายไพรินทร์กล่าวว่า ปัจจุบันการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีความคืบหน้าแล้วกว่า 90% ในส่วนของการเดินรถนั้นคาดว่ารถ 3 ขบวนแรกจะมาช่วงปลายปีนี้ จากนั้นจะมีการทดสอบระบบ และจะเริ่มนำมาวิ่งช่วยลดความแออัดของรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อได้ก่อนในช่วงต้นปี 2562 ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะเปิดให้บริการในสายใต้ ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ในเดือน ก.ย. 2562 และระยะที่ 2 เปิดเดินรถสายเหนือช่วงเตาปูน-ท่าพระ ในเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนี้จะเป็นทางเลือกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวสู่พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์อีกด้วย
สำหรับสถานีวัดมังกรนั้นได้มีการตกแต่งสถาปัตยกรรมแบบจีนและยุโรป หรือเรียกว่ารูปแบบชิโนโปรตุกีส เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เป็นย่านชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน โดยได้นำลวดลายมังกรมาเป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่ง ตั้งแต่การใช้ลวดลายส่วนหัวและท้องมังกรมาตกแต่งบริเวณทางลงสถานี เพดาน ชั้นจำหน่ายตั๋ว สลับกับลายดอกบัว และลายประแจจีนประดับบนผนังทั้งสองด้านตลอดแนวทางเดินและหัวเสาสถานี เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย และอิสรภาพ
ทั้งนี้ ได้ให้นโยบายกับ รฟม.ให้นำแนวคิดการออกแบบสถานีรถไฟฟ้าที่เข้ากับสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นๆ เช่น สายสีส้ม, สีชมพู ช่วงมีนบุรี-แคราย, สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง เพื่อให้เป็นเชิงสัญลักษณ์ เช่นเดียวกับสถานีวัดมังกร สถานีสนามไชย เพื่อลดความจำเจต่อผู้ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ รฟม. (วิศวกรรมและก่อสร้าง) กล่าวว่า ภาพรวมในการดำเนินงานของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีความคืบหน้า 97.69% โดยมีเปิดให้บริการได้ตลอดสายในเดือน ก.พ. 2563 ทั้งนี้ ปัจจุบัน MRT สายเฉลิมรัชมงคลมีรถไฟฟ้าจำนวน 19 ขบวน ซึ่งรถใหม่ที่ BEM สั่งซื้อจำนวน 35 ขบวนนั้น 3 ขบวนแรกจะทยอยส่งมอบในปลายปีนี้ และจะนำมาให้บริการในเส้นทางก่อนช่วง มี.ค. 2562 เพื่อลดแออัดสายเฉลิมรัชมงคลก่อน
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ มีระยะทางรวม 27 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับ ระยะทาง 21.5 กม. สถานียกระดับ 15 สถานี และโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบใต้ดิน ระยะทาง 5.4 กม. สถานีใต้ดิน 4 สถานี โดยแนวเส้นทางเชื่อมต่อแบบวงกลมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ) ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการเดินรถต่อเนื่องทั้งระบบแล้วจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรีที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (ช่วงเตาปูน-บางซื่อ) ได้ที่สถานีเตาปูน เกิดเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับปริมณฑลให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย
สำหรับการก่อสร้างงานแบ่งเป็น 5 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1 ทางใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย ระยะทาง 2.8 กม. มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้าง จะแล้วเสร็จเดือน พ.ค. 2561, สัญญา 2 ทางใต้ดิน ช่วงสนามไชย-ท่าพระ ระยะทาง 2.6 กม. มี บมจ.ช.การช่าง เป็นผู้รับจ้าง ดำเนินการเสร็จแล้วเมื่อเดือน ก.ย. 2559, สัญญา 3 ทางยกระดับ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ระยะทาง 13 กม. มีกิจการร่วมค้า SH-UN จอยต์เวนเจอร์ เป็นผู้รับจ้าง จะแล้วเสร็จเดือน พ.ย. 2561 สัญญา 4 ทางยกระดับ ช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 10.5 กม. มี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้รับจ้าง จะแล้วเสร็จ เม.ย. 2561, สัญญา 5 งานวางราง ระยะทาง 28.9 กม. มี บมจ.ช.การช่าง เป็นผู้รับจ้าง ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 และสัญญา 6 งานสัมปทานเดินรถ มี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ เป็นผู้รับงาน ลงนามสัญญาเมื่อ 31 มี.ค. 2560 ปัจจุบันมีความคืบหน้า 34.54% เร็วกว่าแผน 3.75%