รฟม.ปรับแผนทุกรูปแบบ เร่งอุโมงค์ลอดแยกรัชโยธินเสร็จเร็วกว่าแผน เล็งเปิดใช้ได้ปลายปี 61 นี้จากเดิม ก.พ. 62 ด้าน ITD ปรับเทคนิคใช้แผงคอนกรีตอัดแรง CCSP บางช่วงช่วยเร่งงานเร็วขึ้น ส่วนสะพานข้ามแยกรัชโยธินแนวถนนพหลโยธินและข้ามแยกเกษตรเสร็จ พ.ย.นี้ ลุ้นสะพานข้ามแยกเสนาฯ เผย สผ.ยังไม่อนุมัติ EIA ด้านตำรวจเร่งคืนผิวจราจรสายสีเขียวรับมือจราจรก่อน “สีชมพู, เหลือง” เริ่มตอกเข็ม
วันนี้ (8 ก.พ.) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.สำเริง สวนทอง รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 (รับผิดชอบงานจราจร) ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการ และผู้แทนจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้าง (สัญญาที่ 1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ถนนรัชดาภิเษก
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาที่ 1 (งานก่อสร้างโครงสร้างโยธาช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) ซึ่งมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผู้รับจ้าง ซึ่งในส่วนของอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ถนนรัชดาภิเษก ขณะนี้มีความคืบหน้า 57.04% จากช่วงเริ่มต้นมีปัญหาการเข้าพื้นที่ จนทำให้เริ่มงานล่าช้าเกือบ 1 ปี ซึ่ง รฟม.ได้หารือผู้รับจ้าง บริษัทที่ปรึกษา นำเทคนิคการก่อสร้างรูปแบบใหม่มาใช้สำหรับการก่อสร้างทางลอด คือการใช้แผงคอนกรีตอัดแรง CCSP (Concrete Corrugated Sheet Pile) และกำแพงกันดินแบบหล่อสำเร็จ (Precasted Retaining Wall) สำหรับผนังอุโมงค์ในช่วงที่ตื้นแทนการขุดดินโดยใช้เข็มพืดเหล็กชั่วคราว (Steel Sheet Pile) ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างผนังอุโมงค์โดยทั่วไป ซึ่งใช้พื้นที่ในการก่อสร้างค่อนข้างมากและมีขั้นตอนการก่อสร้างหลายขั้นตอน
แต่เมื่อใช้เทคนิคการก่อสร้างด้วย CCSP ซึ่งจะก่อสร้างโดยการกดแผ่นคอนกรีตอัดแรง CCSP ให้ชิดติดกันโดยมีแผ่นยางกันซึมระหว่าง CCSP พร้อมกับการอัดฉีดน้ำปูนเพิ่มเติมบริเวณรอยต่อ จึงทำให้สามารถใช้พื้นที่ระหว่างการก่อสร้างน้อยลงและลดระยะเวลาการก่อสร้างได้มากกว่าการก่อสร้างตามรูปแบบเดิม โดยจะสามารถลดระยะเวลาการก่อสร้างจากแผนงานเดิม 30.5 เดือน เหลือเพียง 24 เดือน ซึ่งสามารถลดเวลาได้กว่า 6 เดือน ช่วยให้เริ่มงานในขั้นตอนต่อไปได้เร็วกว่ากำหนดและสามารถคืนผิวจราจรได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เส้นทางบนถนนรัชดาภิเษกและถนนพหลโยธินได้รับความสะดวกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น
ขณะนี้ได้ก่อสร้างผนังแล้วเสร็จ 71% และจะเริ่มดำเนินการขุดเจาะดินจากปลายอุโมงค์ทั้งสองด้านจนบรรจบกันที่กลางอุโมงค์ประมาณเดือน ต.ค. 2561 หลังจากนั้นจึงเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบสาธารณูปโภคภายในอุโมงค์ และจะเร่งรัดเปิดใช้อุโมงค์ภายในปลายปี 2561 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่จะเสร็จในเดือน ก.พ. 2562
ส่วนการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกรัชโยธิน ปัจจุบันก้าวหน้า 66.91% ส่วนสะพานรถยนต์ข้ามแยกเกษตร ก้าวหน้า 68.31% ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานใน พ.ย. 2561 ส่วนสะพานข้ามแยกเสนานั้นเป็นส่วนเพิ่มจากสัญญา ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดให้ รฟม.ก่อสร้างเพิ่มก่อนจะมอบพื้นที่ก่อสร้างช่วงแยกเสนาฯ ซึ่งออกแบบเสร็จแล้ว วงเงินประมาณ 150 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติ EIA ซึ่งยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)
สำหรับงานโยธาของสายสีเขียวเหนือทั้งสายคืบหน้ารวม 55.64% จะเสร็จในเดือน ก.พ. 2562 และเปิดเดินรถในปี 2563 ได้ตามแผน
พ.ต.อ.สำเริง สวนทอง รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 กล่าวว่า บช.น.ได้ประสานงานกับทุกฝ่ายในการจัดการจราจรเพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันผู้รับเหมาได้คืนพื้นผิวการจราจรบนแนวถนนพหลโยธินและรัชดาภิเษกได้เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหาจราจรในพื้นที่โดยรอบมีท้ายแถวติดขัดลดลงทั้งช่วงเช้าและเย็น ทั้งนี้ แนวทางของ บช.น.คือจะเร่งรัดการคืนพื้นผิวจราจรตามแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เร็วและมากที่สุด เพื่อเตรียมรับการเริ่มต้นก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่อยู่ในบริเวณต่อเนื่องกัน