xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเมินบริหารท่าเรือคลองใหญ่ คค.จ่อถกคลังปรับเงื่อนไขเพิ่มแรงจูงใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเจ้าท่าแผยบริหารท่าเทียบเรือคลองใหญ่ไม่ง่าย หลังธนารักษ์มอบอำนาจ คาดต้องเปิด PPP ขณะที่พบติดหลายประเด็นที่ยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนของเอกชน ด้าน “ไพรินทร์” รับเรื่องหารือ รมว.คลังผ่อนปรนเงื่อนไข เพิ่มแรงจูงใจเอกชน และอาจเปิดอีกทางออกให้การท่าเรือฯ รับบริหาร

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ได้รายงานแนวทางโครงการพัฒนาการบริหารจัดการท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด ตลอดจนปัญหาในการสรรหาผู้บริหารท่าเรือ ต่อนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งพบว่าเงื่อนไขในการเปิดสรรหาเอกชนอาจจะยังไม่จูงใจพอที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่ง รมช.คมนาคมเตรียมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้มอบอำนาจให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้จัดหาผู้บริหารจัดการท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด ตามหลักเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 แล้ว ซึ่งเบื้องต้นพบว่าจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนเอกชน 2556 หรือ PPP และเงื่อนไขในเรื่องผลตอบแทน อาจจะยังไม่จูงใจ ทั้งอัตราที่จ่ายล่วงหน้าและอัตรารายปี แม้กรมธนารักษ์จะเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว ดังนั้น ฝ่ายนโยบายจำเป็นจะต้องหารือในเงื่อนไขที่อาจต้องผ่อนปรนมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (หทท.) ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามาดูแลและบริหารท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม

สำหรับการพัฒนาท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าภายในประเทศ และระหว่างภูมิภาค โดยสะพานท่าเทียบเรือคลองใหญ่เดิมตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 7 บ้านสวนมะพร้าว ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อยู่ในความดูแลของธนารักษ์พื้นที่ตราด มีความชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่มีความคุ้มค่าในการปรับปรุงซ่อมแซม และไม่มีเรือเข้าใช้ประโยชน์ กรมเจ้าท่าจึงขอใช้สะพานท่าเทียบเรือดังกล่าว (ประกอบด้วยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) โดยดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างสะพานท่าเทียบเรือเดิม และก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ทดแทน ใช้เงินลงทุนก่อสร้าง 1,295 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของภาคเอกชน ได้ให้ความเห็นว่าท่าเรือมีข้อจำกัดเพราะรองรับเรือขนาด 500 ตันกรอสเป็นเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็ก เป็นการขนส่งชายฝั่ง เส้นทางผ่านมีเพียงกัมพูชาไปเวียดนามเท่านั้น ออกน่านน้ำสากลไม่ได้ ขณะที่หากจะให้มีประโยชน์และคุ้มทุนต้องส่งสินค้าไปจีน ซึ่งต้องใช้เรือขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การเดินเรือไปเวียดนามต้องผ่านชายฝั่งน่านน้ำกัมพูชา ซึ่งต้องทำความตกลงในคณะกรรมการเดินเรือ 3 ประเทศ (ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม) อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น