เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 นายสเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธานบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมงานสัมมนา “อีอีซี ไม่มีไม่ได้ (Move Thailand with EEC)” ซึ่งจัดขึ้นในวาระครบรอบ 35 ปี สื่อเครือผู้จัดการ ณ ห้องแอทธินี คริสตัล ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ได้ขึ้นแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “EEC กับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต” เปิดเผยว่า ในจำนวนโรงงานบีเอ็มดับเบิลยู 31 แห่งใน 14 ประเทศทั่วโลก ภูมิภาคอาเซียนมีโรงงานบีเอ็มดับเบิลยูตั้งอยู่ 3 แห่ง ประกอบไปด้วย จ.ระยอง ในประเทศไทย, กูลิม ในมาเลเซีย, จาการ์ตา ในอินโดนีเซีย โดยโรงงานสามแห่งนี้นับว่ามีความสำคัญมาก และจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เศรษฐกิจแนวโน้มดี อาจย้ายสำนักงานจากสิงคโปร์มาไทย
“ตอนนี้สำนักงานใหญ่บีเอ็มดับเบิลยูในภูมิภาคนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ในอนาคตก็มีโอกาสที่สำนักงานใหญ่จะย้ายมาอยู่ในเมืองไทย หากเรามองเห็นแนวโน้มการเติบโตและการพัฒนาเพิ่มเติม ดังที่ ดร.สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เราเห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเร่งเครื่องขึ้นมา เราเห็นว่าเรามีโอกาสที่จะได้รับศักยภาพนั้นด้วย” ประธานบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ระบุ
นายทอยเชอร์ตกล่าวต่อว่า บีเอ็มดับเบิลยูลงทุนโรงงานผลิตในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อน ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ก่อนที่จะเริ่มสายการผลิตในโรงงานที่ระยองจริงๆ ในปี 2543 ตอนนั้นหลายคนถามว่าทำไมเราถึงกล้าลงทุนในขณะที่วิกฤต แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ตนคิดว่าบีเอ็มดับเบิลยูตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะหากพิจารณาจากปัจจัยรอบด้านแล้ว ประเทศไทยคุ้มค่าที่จะลงทุนทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต
“ประเทศไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางของอาเซียน มีการวางสาธารณูปโภคเอาไว้อย่างดีมาก นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีจุดได้เปรียบคือ อุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีการวางรากฐานอย่างมั่นคงมาอย่างยาวนาน ในมิวนิก (เยอรมนี) มีผู้คนไม่มากที่ทราบว่าประเทศไทยนั้นติดอยู่ในอันดับ 10 หรืออันดับ 12 แรกของประเทศผู้ผลิตรถยนต์ของโลก ด้วยเหตุนี้เราจึงมีซัปพลายเออร์ และสาธารณูปโภคที่พร้อมสำหรับการผลิตยานยนต์ ทั้งในปัจจุบัน และเพื่อที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิตยานยนต์ในอนาคต”
ปัญหาการศึกษา-ค่านิยมปริญญา ทำขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารค่ายรถยักษ์ใหญ่จากเยอรมนีกล่าวต่อว่า บีเอ็มดับเบิลยูไม่เพียงลงทุนด้านโรงงานผลิตในประเทศไทย ซึ่งผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยูอยู่ 17 รุ่น แต่ยังมีความร่วมมือทางด้านการศึกษา และการร่วมสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อมารองรับระบบการผลิต ซึ่งปัจจุบันการมีใบปริญญาอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ที่ทางบีเอ็มดับเบิลยูต้องการ
“เมื่อประเทศไทยก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เราต้องการคนที่สามารถทำงานในอุตสาหกรรมนี้และมีประสบการณ์จริงในกระบวนการผลิต ซึ่งระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยอย่างเดียวไม่เพียงพอ ในยุโรปถือเป็นเรื่องปกติธรรมดามากของการศึกษาแบบอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี (หลักสูตรร่วมระหว่างสถานประกอบการกับสถาบันการศึกษา) แต่ในประเทศไทยเราพบว่าการศึกษาแบบอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคียังไม่ได้รับการยอมรับในระดับเดียวกับปริญญาจากมหาวิทยาลัย แต่พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เราต้องการบุคลากรที่ได้รับการศึกษาในระบบอาชีวศึกษานี้เพื่อก้าวต่อไปในอนาคต”
ด้วยเหตุนี้นายทอยเชอร์ตจึงกล่าวว่า บีเอ็มดับเบิลยูจึงทำงานร่วมกับสถานศึกษา รัฐบาล และหน่วยงานที่ดูแลอีอีซีเพื่อสร้างระบบการศึกษานี้ขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ThaiGerTech ขึ้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลิตงานวิจัยให้กับบีเอ็มดับเบิลยูทั่วโลก
ปี 2040 รถใช้น้ำมันถึงจุดจบ
นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมาตลาดประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดที่สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยยอดขายบีเอ็มดับเบิลยูเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 43 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในเครือข่ายบีเอ็มดับเบิลยูทั่วโลก (คลิกอ่านข่าว : บีเอ็มดับเบิลยูปลื้มยอดขายรถในเครือแตะหลักหมื่น โต 39%) ขณะเดียวกันปีที่แล้วโรงงานในประเทศไทยยังมีกำลังการผลิตกว่า 22,000 คัน โดยร้อยละ 40 เป็นการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศไทย ส่วนอีกร้อยละ 60 เป็นการผลิตเพื่อส่งออกสำหรับรถยนต์ ขณะที่รถจักรยานยนต์นั้นสัดส่วนการขายในประเทศและส่งออกนั้นอยู่ที่ 50 : 50
ในส่วนของกระแสยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่กำลังก่อตัวขึ้นทั่วโลก ผู้บริหารบีเอ็มดับเบิลยูบอกว่า ปัจจุบันโรงงานในประเทศไทยมีการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ถึง 4 รุ่นแล้ว จากจำนวนรุ่นรถยนต์และจักรยานยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศไทยจำนวน 17 รุ่น อย่างไรก็ตาม ทางบีเอ็มดับเบิลยูมองว่ายังต้องใช้ระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE; Internal Combustion Engine) ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ หรือ eMobility อีกช่วงหนึ่ง
“ตอนนี้ทุกคนบอกว่าจะออกรถยนต์รุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า แต่บีเอ็มดับเบิลยูเป็นผู้บุกเบิกในด้านนี้เพราะมีรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบคันแรก (BMW i3) ตั้งแต่ปี 2556 จากนั้นก็มีรุ่น i8 รถ PHEV ที่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบ รถปลั๊กอินไฮบริดถือว่าเป็นสะพานที่เชื่อมปัจจุบันไปสู่อนาคต เพราะผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้รถยนต์ ผู้บริโภคไม่กระโดดไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างทันทีทันใด เพราะพวกเขาต้องการประสบการณ์ในการขับรถยนต์ไฟฟ้า ฉันจะชาร์จไฟยังไง กำลังขับเคลื่อนเป็นยังไง มีความเสี่ยงไหม ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้จึงยังไม่ใช่ว่าผู้ซื้อมาต่อคิวรอซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างการทำงานของเครื่องยนต์สันดาปภายในกับเครื่องยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการเรียนรู้ประสบการณ์ดังกล่าว อีกด้านหนึ่งยังถือเป็นโอกาสในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทั่วโลกยังไม่มีในปัจจุบัน ทั้งการชาร์จไฟที่บ้าน ที่ทำงาน ที่ห้างสรรพสินค้า” ประธานบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทยกล่าว และว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และทุกฝ่ายกำลังเรียนรู้ทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และรัฐบาล โดยภายในสิ้นปีนี้บีเอ็มดับเบิลยูจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างจุดชาร์จไฟในประเทศไทยรวม 100 แห่ง
ส่วนคำถามที่ว่ารถยนต์สันดาปภายในจะหมดอนาคตในปีไหน นายทอยเชอร์ตเปิดเผยว่า บีเอ็มดับเบิลยูมองว่าน่าจะเป็นปี 2583 (ค.ศ. 2040) แม้รัฐบาลบางประเทศจะคาดการณ์ว่าน่าจะเร็วกว่านั้นคือในปี 2573 (ค.ศ. 2030) หรือเมืองบางแห่งในโลกจะบอกว่าอีกแค่ 7-8 ปีข้างหน้าคือปี 2568 (ค.ศ. 2025) เท่านั้นก็ตาม แต่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนั้นรถเครื่องยนต์สันดาปภายในและรถยนต์ไฟฟ้าจะวิ่งร่วมกันอยู่บนท้องถนน และเมื่อถึงยุคถัดไปของรถยนต์ไฟฟ้าจริงๆ เราจะได้ประสบพบเห็นยานยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Driving) ด้วย โดยข้อเด่นอย่างมากของการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าก็คือ ความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แต่ก็ต้องมีความชัดเจนด้วยว่าไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์นั้นต้องผลิตจากพลังงานหมุนเวียน มิใช่การผลิตไฟฟ้าแบบเดิมๆ
ผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย เปิดเผยด้วยว่า นายฮาราร์ด ครูเกอร์ ซีอีโอกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยูทั่วโลกประกาศแล้วว่า ในปี 2568 (ค.ศ. 2025) บีเอ็มดับเบิลยูจะต้องผลิตรถยนต์ 25 รุ่นที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน โดยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของ 25 รุ่นต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ซึ่งในปีหน้า (2562) รถมินิขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (Mini BEV) จะวางขาย ก่อนที่ในปี 2563 จะเป็นรุ่น X3 BEV และในปี 2564 บีเอ็มดับเบิลยูรุ่น iNEXT ซึ่งจะได้เห็นว่ามิเพียงขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า แต่ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีล่าสุดไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อต่างๆ และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วย
“ในปี 2568 เราคาดว่าสัดส่วนของยอดขายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (ทั้ง PHEV และ BEV) จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15-25 ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งหากประเมินจากยอดขายปี 2559 นั่นหมายความว่าในปี 2568 บีเอ็มดับเบิลยูจะต้องขายรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกราว 5 แสนคันต่อปี แต่ในส่วนของประเทศไทย ปีที่ 2560 ที่ผ่านมาสัดส่วนของยอดขายรถปลั๊กอินไฮบริดของเราสูงถึงร้อยละ 13 หรือยอดขายรถปลั๊กอินไฮบริดเติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า ขณะที่ในมาเลเซียสัดส่วนยอดขายรถปลั๊กอินไฮบริดนั้นสูงถึงร้อยละ 56 ตามมาด้วยกลุ่มประเทศนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 27 นั่นหมายความว่ามีตลาดในบางประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า” ผู้บริหารกลุ่มบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทยเผย และว่า ประเทศไทยนั้นถือเป็นต้นแบบของประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และในโลกในการปรับตัวดังกล่าว
EEC ต้องเน้นความยั่งยืน-การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอล
ในส่วนของโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นายทอยเชอร์ตระบุว่า บีเอ็มดับเบิลยูมองไปที่สองจุด คือ หนึ่ง ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งหมายความว่า เมื่อยานยนต์กำลังเข้าสู่ยุคของการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า พลังงานทางเลือกจะมาจากที่ไหน นอกจากนี้ยังรวมถึงความตระหนักของผู้บริโภค และรัฐบาลเกี่ยวกับการสัญจรอย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility) ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูเห็นว่าโอกาสนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ใช้จะได้เรียนรู้และเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการสัญจร ซึ่งเราเชื่อว่าผู้บริโภคจะชอบมัน จะรักมัน และเข้ากับปรัชญา Fun to Drive ของบีเอ็มดับเบิลยู สอง การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอล (Digitalization) ซึ่งหมายความว่ารถยนต์จะเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากการแบ่งปันรถยนต์ (Utilization of Car-sharing)
“ในช่วงสิบปีข้างหน้าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่าในช่วงประวัติศาสตร์ 100 ปีที่ผ่านมาของวงการยานยนต์ ซึ่งนั่นจะเป็นความท้าทายของบีเอ็มดับเบิลยูเราเช่นกัน เพราะเรายังต้องลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเก่า และเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ของอนาคต ซึ่งเราอยากทำสิ่งเหล่านี้ในประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี และเรามองเห็นว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนแนวคิดของการสัญจรแห่งอนาคต” ผู้บริหารบีเอ็มดับเบิลยูระบุ และว่าในปีหน้า (2562) บีเอ็มดับเบิลยูจะเริ่มการประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ในโรงงานที่ประเทศไทย แต่มีอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งก็คือ การขาดแคลนซัปพลายเออร์ผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งประเด็นนี้ได้มีการปรึกษากับรัฐบาลไทยแล้ว โดยแบตเตอรี่จะเป็นพื้นฐานของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในอนาคต แต่ตนยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัดเช่นกันว่าโรงงานบีเอ็มดับเบิลยูในประเทศไทยจะพร้อมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบเมื่อไหร่
“ผมไม่ทราบจริงๆ แต่บอกได้ว่าไม่น่าจะนาน ถ้าเรามีซัปพลายเออร์ผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ถ้ามีการสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงเครือข่ายของซัปพลายเออร์ บางทีเวลานั้นอาจจะมาถึงใน 5 ปีข้างหน้า เราอาจจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบได้” เขาระบุ และเน้นย้ำความสำคัญในส่วนการของศึกษา เพราะบีเอ็มดับเบิลยูมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถจัดการกับเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างดี ดังนั้นการเข้าไปช่วยเหลือและร่วมโครงการการศึกษาแบบทวิภาคีจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
คลิกชมการปาฐกถาของ นายสเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธานบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ในหัวข้อ “EEC กับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต”