xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ยันกรีนพีซกางผลตรวจสอบ 14 จังหวัดไม่พบอุตสาหกรรมทำให้เกิดฝุ่นละออง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมกางผลตรวจสอบ 14 จังหวัดหลังกลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผยแพร่รายงานสถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองช่วง ม.ค.-มิ.ย. 60 พบ 14 จังหวัดฝุ่นขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ยืนยันฝุ่นดังกล่าวไม่ได้เกิดจากภาคอุตสาหกรรมแแต่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งของภาคเกษตรและการเผาป่าเป็นหลัก ประกอบกับช่วงดังกล่าวแห้งแล้ง

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่กลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ปี 2560 โดยอ้างอิงการรายงานข้อมูลของสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ 19 สถานีทั่วประเทศ พบว่า 14 จังหวัดมีผลการตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน เกินค่าคำแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สั่งการให้หน่วยงานพื้นที่ 14 จังหวัด ในจุดที่เป็นที่ตั้งของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุและแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในช่วงเวลาเดือนมกราคม-มิถุนายน 2560

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงพื้นที่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งของภาคการเกษตรและการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝน การเผาขยะชุมชน และการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ ตลอดจนช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงฤดูแล้งสภาพอากาศนิ่งและแห้งเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการฟุ้งของฝุ่นละอองสะสมในชั้นบรรยากาศบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่สรุปแหล่งก่อกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ และที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนี้ การเผาเศษวัสดุในที่โล่งก่อให้เกิดฝุ่น 58% ภาคขนส่ง15% ภาคอุตสาหกรรม18% และการผลิตไฟฟ้า 8% ซึ่งการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นไม่สามารถสรุปปริมาณการก่อกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ แต่เพื่อให้เป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตรวจสอบมลพิษฝุ่นละอองของเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) พบข้อเท็จจริงว่า

1. การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองทั้งขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนและขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ซึ่งฝุ่นละอองเหล่านี้ระบบอุปกรณ์ขจัดมลพิษทางอากาศ เช่น ถุงกรองเครื่องจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต หรือระบบขจัดก๊าซซัลเฟอร์ จะสามารถลดปริมาณฝุ่นละอองก่อนที่จะปล่อยสู่อากาศได้มากถึงร้อยละ 99 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนเดียวที่มีการกำกับดูแลทั้งพฤตินัยและนิตินัย มีการกำกับดูแลการระบายมลพิษ และมีการลงโทษตามกฎหมายเมื่อผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน

2. จากผลการศึกษาของหน่วยงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา US EPA (Guideline on Speciated Particulate Monitoring) พบว่าฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศใกล้แหล่งอุตสาหกรรมไม่ได้เกิดจากการระบายอากาศจากปล่องของโรงงาน แต่เกิดจากกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่สามารถระบุแหล่งกำเนิดได้อย่างชัดเจน เช่น การลำเลียงขนส่ง เป็นต้น

3. ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ จากปฏิกิริยาแสงอาทิตย์กับออกไซด์ของไนโตรเจน สารอินทรีย์ระเหย และก๊าซโอโซนที่มีอยู่แล้วในอากาศตามธรรมชาติ ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดตามธรรมชาตินี้มีปริมาณที่ไม่แน่นอนไม่สามารถระบุจำนวนมากน้อยในแต่ละพื้นที่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น