xs
xsm
sm
md
lg

นายจ้างละเหี่ยใจลูกจ้างมิลเลนเนียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - นายจ้างละเหี่ยใจ! ลูกจ้างยุคมิลเลนเนียมอยู่ไม่ทน ใช้เวลางานหางานใหม่ เหตุโลกเปลี่ยนตามเทคโนโลยี ถึงเวลากดปุ่มดึงไอทีช่วยชีวิต “เวิร์กเดย์” ชูโซลูชันด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลและการเงินบนระบบคลาวด์ให้บริการในไทย ช่วยแก้ปัญหาเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันองค์กรกำลังประสบปัญหาในการดำเงินงานด้านการบริหารจัดการสูงมาก จาก 2 ส่วนหลัก คือ 1. Key Issues ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ AI, การเติบโตของแรงงานฟรีแลนซ์, แอปพลิเคชันเกี่ยวกับ Design thinking in HRM และ Data-driven HR 2. Key Technology ผลกระทบจากเทคโนโลยี ทำให้องค์กรต้องสร้างแบรนด์ มองหาทาเลนต์ ฝึกอบรมพนักงาน การจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลสู่ตลาดเมืองไทย โดยภายในงานเสวนา ในหัวข้อ Engaging Thailand’s Future Workforce-HR and Recruitment Trends 2018 ภายใต้การพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางที่บริษัทต่างๆ นำมาใช้ในการรับมือกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นด้านการดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถที่สุด เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงแนวโน้มด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้วิธีการทำงานของพนักงงานเปลี่ยนแปลงไป

จากวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ นายเดวิด โฮป ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิค, วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าหุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย, ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ และ ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด

ที่มองว่าตลาดแรงงานไทยปัจจุบันกำลังเข้าสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียมที่คุ้นชินกับเทคโนโลยีในการใช้ชีวิตประจำวัน มีความเป็นตัวตนสูง หากองค์กรใดไม่สามารถให้ความสะดวกสบายในการทำงานผ่านเทคโนโลยีได้ตลอดเวลาก็อาจจะอยู่ไม่นาน และจากผลสำรวจยังพบว่ากลุ่มคนมิลเลนเนียลเป็นพวกเบื่อง่าย ซึ่ง 2 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้จะทำงานในองค์กรไม่เกิน 5 ปี และจำนวนดังกล่าวยังใช้เวลางาน 30% เพื่อเสิร์ชหางานใหม่อีกด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้องค์กรต้องมีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็น การหาวิธียืดอายุการทำงานให้พนักงานที่กำลังจะเกษียณให้ยาวออกไป รวมถึงมองหาวิธีรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว HR จึงต้องเข้ามามีบทบาทการทำงานมากขึ้น ในรูปแบบที่ต้องเจาะลึกและเข้าถึงความต้องการของพนักงานให้มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการหาจุดเด่นจุดด้อยของพนักงาน เพื่อนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพในอนาคต

“ประเทศไทยยังแข่งขันได้ยาก เพราะแรงงานมีทักษะน้อยมากกับยุคไอที ตัวองค์กรเองจึงต้องปรับตัวเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองและบุคลากร ส่วนบุคลากรก็ต้องพร้อมพัฒนาตัวเอง ยอมรับความผิดพลาดและพร้อมเริ่มต้นใหม่” ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวเสริมว่า สำหรับกลุ่มคนมิลเลเนียลไม่ได้หมายถึงคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่หมายถึงกลุ่มคนสูงอายุที่เข้าถึงเทคโนโลยีด้วย การพัฒนาการใช้งานและการทำงานผ่านระบบไอทีให้กับคนกลุ่มนี้ทำได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันที่รู้จักการใช้งานโซเชียลมีเดีย การนำเอาไอทีเข้าช่วยทำให้ลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยได้ รวมถึงในองค์กรช่วยให้บุคลากรทั้ง 2 ช่วงวัยทำงานร่วมกันได้ เห็นได้จากกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ที่ดูแลอยู่

นอกจากปัญหาบุคลากรทำงานในองค์กรในระยะสั้นๆ ปัญหาใหญ่อีกเรื่อง คือ ทักษะการทำงานของแรงงาไทย โดย ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ กล่าวว่า ปัญหาแรงงานไทยเกิดจากระบบการศึกษาที่ไม่ได้โยงกับแผนเศรษฐกิจมาตั้งแต่ต้น ความต้องการด้านแรงงานวิชาชีพมีสูง แต่แรงงานขาดทักษะในด้านนี้ หากจะให้ไทยเป็นฮับด้านท่องเที่ยวหรือเฮลท์แคร์ควรมีการสร้างแรงงานให้ตรงความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการทำงาน หรือภาษา โดยเฉพาะในเรื่องของภาษานั้นพบว่ามีเพียง 10% ของแรงงานที่พูดภาษาอังกฤษได้ กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง ที่เหลือยังเป็นกลุ่มรองลงมา

นายเดวิด โฮป ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิค กล่าวว่า พนักงานในแต่ละเจเนอเรชันให้คุณค่าและลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องค้นหาว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานเหล่านี้ โดยเฉพาะประเทศไทยควรมีแนวทางปฏิบัติและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ล่าสุดทางบริษัทพร้อมนำเสนอโซลูชันด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลและการเงินบนระบบคลาวด์ให้บริการในไทย ช่วยแก้ปัญหาเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ล่าสุดบริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด คือลูกค้ารายล่าสุดในประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น