xs
xsm
sm
md
lg

ปรับแผน “มอเตอร์เวย์-ทางด่วน” รื้อแนวทับซ้อนเน้นเชื่อมโยงหวั่นแย่งลูกค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” สั่ง สนข.เร่งบูรณาการแผนแม่บท “มอเตอร์เวย์ และทางด่วน” หลังพบหลายโครงการซ้ำซ้อนแนวก่อสร้างใกล้กัน หวั่นไม่คุ้มค่าลงทุน พร้อมสั่งแยกภารกิจแต่ละหน่วยให้ชัดเจน ระบุ ทล.สร้างมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างเมือง ทางด่วนเน้นแก้จราจรเขตเมือง “อธิบดี ทล.” เผยแผน 20 ปี 21 สาย วงเงิน 2 ล้านล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุม การบูรณาการแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 20 ปี ของกรมทางหลวง (ทล.) และแผนการก่อสร้างทางพิเศษ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำแผนงานของทั้งมอเตอร์เวย์และทางด่วนบูรณาการร่วมกัน โดยพิจารณาใน 3 เรื่อง คือ 1. ลดความซ้ำซ้อนของแนวเส้นทาง 2. โครงข่ายเชื่อมโยงกัน ซึ่งภารกิจของระบบมอเตอร์เวย์ คือการเชื่อมโยงระหว่างเมือง ส่วนระบบทางด่วนคือการแก้ปัญหาจราจรในเขตเมือง เป็นต้น 3. การขับเคลื่อนทางเศรษฐศาสตร์ ผลตอบแทนการลงทุนของโครงการ รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนมากขึ้น ทั้งการลงทุนทั้งหมด 100% หรือลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เป็นต้น รวมถึงจะต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้วย

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเห็นว่าโครงข่ายของมอเตอร์เวย์และทางด่วนจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกันเพื่อประหยัดการลงทุน และต้องวางโครงข่ายให้เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทาง สนข.จะประมวลและนำแผนบูรณาการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน ซึ่งเบื้องต้นมีหลายโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น ทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ของ กทพ.แนวเส้นทางซ้ำซ้อนกัน มอเตอร์เวย์สาย 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา), ทางพิเศษสายนครนายก-สระบุรี ของ กทพ.ที่อาจยังไม่คุ้มค่าและซ้ำซ้อนกับโครงข่ายของกรมทางหลวง
 
ด้านนายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมทางหลวงได้ศึกษาแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ 20 ปี (2560-2579) จำนวน 21 สายทาง ระยะทางรวม 6,612 กม. มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านล้านบาท (มูลค่า ณ ปัจจุบัน) ซึ่งหากแบ่งแยกภารกิจได้อย่างชัดเจนจะลดความซ้ำซ้อนของมอเตอร์เวย์และทางด่วนลงได้มาก โดยการก่อสร้าง มอเตอร์เวย์เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนทางด่วนควรเน้นในการแก้ปัญหาจราจรเป็นหลัก

พบว่ามีหลายโครงการ กทพ.ที่ซ้อนกับแนวมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง เช่น แนวเส้นทางทางด่วนบูรพาวิถี-พัทยา ที่ กทพ.จะต่อไปถึงบายพาสชลบุรี จะคร่อมมอเตอร์เวย์สาย 7 และวิ่งคู่ขนานห่างกันแค่ 200 เมตร ไปสิ้นสุดที่แหลมฉบัง ซึ่งแนวสายทางทับซ้อนกัน, ทางด่วนนครนายก-สระบุรี ของ กทพ.ที่อาจยังไม่คุ้มค่าและซ้ำซ้อนกับโครงข่ายของกรมทางหลวง รวมถึงมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดน เป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า แผนแม่บทโครงข่ายมอเตอร์เวย์ ระยะ 20 ปีนั้นมี 21 สายทาง ระยะทางรวม 6,612 กม. โดยมีวงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 1,983,000 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 159,000 ล้านบาท เช่น หมายเลข M2 ด่านแม่สอด-ด่านมุกดาหาร, M3 ด่านช่องจอม-ด่านบึงกาฬ, M4 นครสวรรค์-ด่านช่องเม็ก, M5 กรุงเทพฯ-ด่านแม่สาย/เชียงของ, M6 บางปะอิน-ด่านหนองคาย, M7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง, M8 นครปฐม-ด่านสุไหงโก-ลก, M9 ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกรอบที่ 2), M51 เชียงใหม่-ลำปาง (แจ้ห่ม), M52 สุพรรณบุรี-ชัยนาท, M53 กรุงเทพฯ-บางปะหัน, M61 ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-นครราชสีมา

M62 กรุงเทพฯ-สระบุรี, M71 กรุงเทพฯ-ด่านอรัญประเทศ, M72 ชลบุรี-ตราด, M81 บางใหญ่-ด่านน้ำพุร้อน, M82 กรุงเทพฯ-ปากท่อ, M83 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต, M84 สงขลา-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (ด่านสะเดา), M91 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ รอบที่ 3, M92 ชลบุรี-นครปฐม

ด้าน กทพ.มีแผนทางด่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน 8 โครงการ ได้แก่ ศรีรัช-วงแหวนฯ มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ, พระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ, ด่วน N2, กระทู้-ป่าตอง, เชื่อมอุตราภิมุข-ศรีรัช-วงแหวนฯ, ฉลองรัฐ-นครนายก-สระบุรี, อุดรรัถยา-อยุธยา,บูรพาวิถี-พัทยา


กำลังโหลดความคิดเห็น