“กรมทางหลวง” เผยศึกษาออกแบบสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) คืบหน้า 50% คาดเสร็จ ก.ค. 61 เชื่อมโครงข่าย ย่นระยะทางขนส่งไทย-ลาว-ดานัง (เวียดนาม) ส่วนมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) รอ สปป.ลาวเจรจาเงินกู้เนด้ายุติ พร้อมตั้งงบปี 62 เริ่มก่อสร้าง
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ว่า ขณะนี้การศึกษาเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากทำประชาพิจารณ์และเลือกแนวเส้นทางจากทางเลือก 3 แนวได้แล้ว โดยจะขยับแนวสะพานขึ้นไปทางเหนือตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ 20 กม. เพื่อเลี่ยงพื้นที่ป่าชุ่มน้ำทางฝั่ง สปป.ลาว ส่วนฝั่งไทยอยู่ระหว่างศึกษา กรณีต่อขยายส่วนของถนนที่เชื่อมกับตัวสะพาน โดยยกระดับข้ามถนนที่ค่อนข้างเล็ก ไปเชื่อมกับทางหลวงสายหลักซึ่งจะส่งผลดีต่อการจราจรกว่า โดยประเมินว่าจะมีระยะทางส่วนถนนเพิ่มประมาณ 30 กม. ขณะที่เส้นทางปัจจุบันจะค่อนข้างคดเคี้ยวและมีระยะทางประมาณ 60-70 กม. จึงจะบรรจบกับถนนสายหลัก
ส่วนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน แขวงบอลิคำไซ) นั้น ขณะนี้ออกแบบก่อสร้างเสร็จแล้ว ประเมินล่าสุดมูลค่าเงินลงทุนโครงการอยู่ที่ 3,921 ล้านบาท โดยข้อตกลงไทยและลาวจะออกฝ่ายละครึ่ง ประกอบด้วย ค่าสะพาน อาคารสำนักงานด่าน และถนน ซึ่งเบื้องต้นฝ่ายไทยลงทุน 1,972 ล้านบาท ฝ่ายลาวลงทุน 1,949 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างฝั่งไทยจะใช้เงินงบประมาณ ส่วนฝั่งลาวจะใช้เงินกู้ ซึ่งอยู่ระหว่างขอกู้เงินจากเนด้า หากลาวเจรจาด้านเงินกู้จบภายในปีนี้กรมทางหลวงจะตั้งงบประมาณปี 2562 เพื่อก่อสร้าง
ด้านนายประมณฑ์ สถาพรนานนท์ วิศวกรใหญ่ด้านสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง กล่าวว่า ขณะนี้การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงข่ายสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงสาละวัน สปป.ลาว มีความคืบหน้ากว่า 50% และคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2561 โดยเป็นโครงการในพื้นที่ศึกษาที่จังหวัดอุบลราชธานีใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาตาล อำเภอเขมราฐ โดยแนวเส้นทางที่ได้รับการคัดเลือกและเหมาะสมของโครงการมีจุดเริ่มต้นที่ กม.23+350 (บ้านโนนตาล ต.นาตาล อ.นาตาล) จุดสิ้นสุดที่ กม.546+800 (เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน) รวมความยาวโดยประมาณ 25.8 กิโลเมตร
สำหรับรูปแบบของสะพานจะเป็นสะพานโค้ง ARCH ซึ่งเป็นระบบ Tied Arch คานสะพานเป็นคอนกรีตหรือผสมระหว่างเหล็กกับคอนกรีต ทำให้โครงสร้างสะพานมีความแข็งแรง มีความโดดเด่นด้วยเส้นนอน
ปัจจุบันการส่งออกสินค้าจากประเทศไทยไปเมืองละครเพ็ง แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีการขนส่งทางเรือผ่านด่านพรมแดนบ้านปากแซง จ.อุบลราชธานี ทำให้ขนส่งสินค้าได้จำนวนน้อยและไม่สะดวกในการเดินทาง ซึ่งจากการประชุมเรื่องการพัฒนาร่วมกันเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่าย สปป.ลาว จึงเห็นควรให้มีการจัดทำโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงบริเวณนี้ โดยการศึกษาต้องพิจารณาถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาทางหลวงให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียนต่อไป อีกทั้งโครงข่ายสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 จะช่วยให้ประชาชนเดินทางระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงสาละวัน สปป.ลาว ได้สะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง รวมทั้งส่งเสริมภาคธุรกิจขนส่งและการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.6thkongriverbridge.com สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง โทร. 0-2354-1027 และสายด่วน กรมทางหลวง 1586 (โทร.ฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)