xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอแอร์พอร์ตลิงก์แจงบอร์ดล้มประมูลประตูกั้นชานชาลา ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อปี 49

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วิสุทธิ์” ส่งหนังสือแจงเหตุยกเลิกประมูลประตูกั้นชานชาลา แอร์พอร์ตลิงก์ หลังถูกเอกชนถามขั้นตอนดำเนินการ และใช้ข้อกฎหมายใดยกเลิก ระบุ กก.ประมูลฯ ต่อรองกิจการร่วมค้า เซี่ยงไฮ้ฯ และเสนอซีอีโอ และบอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งขอยกเว้นระเบียบ พ.ร.บ.จัดซื้อปี 49 แล้ว โดยบอร์ดได้มีมติให้ยกเลิกประมูลตามระเบียบใน พ.ร.บ.จัดซื้อปี 49 เนื่องจากมีผู้มีสิทธิเสนอราคาเพียงรายเดียว พร้อมยันยกเลิกไม่เกี่ยวกับการรอความชัดเจนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินแต่อย่างใด

จากที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ได้เสนอข่าวกรณีที่กิจการร่วมค้า เซี่ยงไฮ้ ยูซีอาร์ซี ไดนามิค ได้ยื่นหนังสือถึงนายวิสุทธิ์ จันมณี รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และ นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง ประธานคณะกรรมการประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) เพื่อจัดหาและติดตั้งระบบประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน (half height) 7 สถานี รวม 14 ชานชาลา วงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งได้มีการยกเลิกการประมูลภายหลังเจรจาต่อรองราคากับกิจการร่วมค้า เซี่ยงไฮ้ฯ ไปแล้วนั้น โดยกิจการร่วมค้า เซี่ยงไฮ้ฯ ได้สอบถามว่า แอร์พอร์ตลิงก์ได้ดำเนินการประกวดราคาภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ด้วยความเคร่งครัด และถูกต้องตามกระบวนการ โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนหรือไม่ การยกเลิกประมูลใช้กม.ฉบับใด และข้อใด

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้ส่งหนังสือชี้แจงมายังหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฯ โดยระบุว่า ขั้นตอนในการออกประกาศเชิญชวนฯ มีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาจำนวน 10 ราย และมีผู้เข้าร่วมยื่นซองจำนวน 4 ราย โดย 2 ใน 4 รายได้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิค อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประกวดราคาฯ ได้ตรวจพบว่า 1 ใน 2 รายที่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิคนั้นได้กำหนดระยะเวลายืนราคาไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข ซึ่งเป็นสาระสำคัญตามข้อกำหนดของเอกสารประกวดราคา จึงทำให้มีผู้ผ่านการพิจารณาเพียงรายเดียว คือ กิจการร่วมค้า เซี่ยงไฮ้ฯ

หลังจากนั้นคณะกรรมการประกวดราคาฯ ได้ทำการต่อรองราคา ตามหนังสือเรื่องการอนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ที่ กค (กวพอ) 0421.3/พ.0029 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2557 ภายหลังจากที่คณะกรรมการประกวดราคาฯ ดำเนินการต่อรองราคาแล้วจึงเสนอต่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และคณะกรรมการบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟฯ ครั้งที่ 19/2558 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ให้ดำเนินการว่าจ้างเอกชนจัดหาและติดตั้งระบบประตูกั้นชานชาลา 7 สถานี วงเงิน 200 ล้านบาท
เมื่อคณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาแล้วจึงเห็นว่าเพื่อความรอบคอบ จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและสัญญาของบริษัทฯ พิจารณา และให้ข้อสังเกต ซึ่งต่อมาคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้ยกเลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 เนื่องจากมีผู้มีสิทธิเสนอราคาเพียงรายเดียว

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2561 บริษัทฯ ได้ทำการประกาศยกเลิกการดำเนินการจัดหาและติดตั้งประตูกั้นชานชาลา ที่สถานีรถไฟฟ้า 7 สถานีผ่านเว็ปไซต์ของบริษัทฯ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

สำหรับกรณีที่เอกชนกล่าวว่า นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง ได้ให้ข้อมูลเหตุของการยกเลิกการประมูลนั้นเกิดขึ้นจากต้องการรอความชัดเจนของโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ในประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่ถูกเชื่อมโยงให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคม และคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่ชี้แจงข้างต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น