ทอท.ลุยประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ สุวรรณภูมิ ขายซองปลาย มี.ค.นี้ “ไพรินทร์” ชี้ประมูลเป็นอำนาจบอร์ด ทอท. ขณะที่สัมปทานรายเดียวเป็นการบริหารตามมาตรฐานสนามบินนานาชาติ ลงพื้นที่ตรวจร้าน อาหารทางเลือกราคาถูก แล้วพอใจ ด้านสุวรรณภูมิลงทุนกว่า 300 ล้านปรับปรุงห้องน้ำใหม่ “นิตินัย” ยันไม่ขึ้นค่า PSC รายได้และกระแสเงินสดเพียงพอลงทุนขยายสนามบิน
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ ตรวจร้านอาหารภายในสนามบินสุวรรณภูมิว่า ยืนยันราคาอาหารที่สนามบินสุวรรณภูมิต้องสูงกว่าราคาในเมืองได้ไม่เกิน 25% ซึ่งเป็นไปตามต้นทุนของการให้บริการภายในสนามบินนานาชาติที่ต้องเปิดตลอด 24 ชม. เป็นไปตามมาตรฐานสนามบินนานาชาติทั่วไป แต่ประเด็นคือ ผู้โดยสารต้องมีทางเลือก ซึ่งมีบริการศูนย์อาหารหรือฟูดคอร์ตอยู่ด้านใต้อาคารผู้โดยสาร ซึ่งจะต้องเพิ่มป้ายประชาสัมพันธ์ ส่วนน้ำดื่มจะมีราคา 10 บาทอยู่ทั่วไป
ทั้งนี้ ได้ให้ ทอท.ตั้งกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามสัญญาและทำรายงานเป็นรายเดือนและสำรวจความพึงพอใจลูกค้าด้วย ส่วนค่าเช่าช่วง หรือค่าแป๊ะเจี๊ยะนั้นสนามบินแห่งนี้ใช้รูปแบบการประมูลหาเอกชนมาบริหารจัดการพื้นที่ หากทำเอง ทอท.ต้องประมูลแต่ละร้านค้า การดูแลยุ่งยาก แต่เมื่อมีสัมปทานผู้ได้สัญญาเอาไปเช่าช่วงต่อเป็นเรื่องของผู้ได้สัมปทานกับร้านที่มาเช่าช่วง ขณะนี้รูปแบบสัมปทานรายเดียวถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค คือมีทั้งของราคาถูก และราคาแพง สัญญาที่ทำอยู่ขณะนี้ถูกต้องตามระเบียบ การเปิดประมูลใหม่จะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐมนตรีไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ขอให้ยึดความต้องการประชาชนและผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก
“หากอยากได้ราคาเดียวกันทั้งสนามบิน อาจจะทำได้แต่เป็นรูปแบบของสนามบินนานาชาติหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ให้ ทอท.เพิ่มพื้นที่ขยายร้านอาหารราคาถูกที่เป็นทางเลือก เนื่องจากฟูดคอร์ตที่มีอยู่ขณะนี้ค่อนข้างแออัด”
นอกจากนี้ ในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวก ขณะนี้สนามบินสุวรรณภูมิกำลังดำเนินการปรับปรุงห้องน้ำใหม่ เนื่องจากเดิมใช้งานมาตั้งแต่เปิดสนามบินและมีการร้องเรียนมาก ทอท.ได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่ให้สวยงาม ทันสมัย
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ประมาณปลายเดือน มี.ค.หรือต้นเดือน เม.ย. ทอท.จะเปิดขายซองประมูลโครงการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในสัมปทานการอนุญาตประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ภายใต้เงื่อนไขเดิม คือเป็นสัมปทานเดียวต่อ 1 โครงการ โดยคาดว่าจะได้ตัวเอกชนภายในไตรมาส 2/2561 ทั้งนี้เพื่อให้เวลาในการเตรียมพร้อมสำหรับผู้ได้รับสัมปทานก่อนสัญญาของบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด จะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2563
ส่วนกรณีที่มีข้อสังเกตที่ให้ ทอท.ดำเนินการพื้นที่เชิงพาณิชย์เองนั้น ในหลักการสนามบินขนาดเล็ก ทอท.ทำเองได้ แต่จะมีปัญหาเรื่องการให้บริการของร้านค้าที่ไม่เป็นมาตรฐาน การตกแต่งร้านค้า การออกแบบไม่สอดคล้องกันไม่สวยงาม และการใช้วัสดุต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย คนขายต้องพูดภาษาอังกฤษได้ตลอด 3 กะ เป็นต้น ซึ่งมีต้นทุนการดำเนินงานสูง และเป็นมาตรฐานสนามบินใหญ่ทั่วโลกต้องดำเนินการ แต่อาจเป็นไปได้ที่จะมีปรับพื้นที่บางส่วนออกจากสัญญาเพื่อนำมาดำเนินการเอง เพื่อให้มีส่วนของร้านอาหารราคาถูกเป็นทางเลือกเพิ่ม
นอกจากนี้ ทอท.ไม่มีนโยบายปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) ในขณะนี้เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยสนามบินสุวรรณภูมิปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปีสูงกว่าขีดความสามารถรองรับที่ 45 ล้านคนต่อปี ขณะที่บริษัทมีกระแสเงินสดในมือสูงราว 7 หมื่นล้านบาท และยังมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อีกปีละ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่แผน 10 ปี ทอท.จะลงทุนประมาณ 2.2 แสนล้านบาทเพื่อขยายขีดความสามารถทุกสนามบิน ซึ่งรวมการลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท ที่ปรับลดลงเหลือ 5.3 หมื่นล้านบาท โดยจะมีรายได้ที่นำไปลงทุนพัฒนาได้โดยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่า PSC ประเมินว่าในช่วงปี 61-63 รวมประมาณ 9 หมื่นล้านบาท
***ทุ่ม 300 ล้านปรับปรุงใหญ่ ห้องน้ำสนามบินสุวรรณภูมิ
สำหรับการปรับปรุงห้องน้ำนั้น มีทั้งหมด 122 จุด แบ่งเป็น 4 ระยะ วงเงินรวม 300 ล้านบาท โดยระยะที่ 1 SCG เข้ามาช่วยปรับปรุง จำนวน 5 จุด เสร็จแล้ว 2. บริเวณห้องพักผู้โดยสาร จำนวน 63 จุด วงเงิน 87.7 ล้านบาท อยู่ระหว่างประมูล 3. บริเวณทางเดิน จำนวน 37 จุด วงเงิน 132.5 ล้านบาท 4. ภายในอาคารผู้โดยสาร ชุดแรก 2 จุด วงเงิน 11 ล้านบาท ขณะนี้เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างออกแบบอีก 15 จุด วงเงิน 69 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการ 2-3 ปี เนื่องจากต้องทยอยปิดปรับปรุงทีละจุดไม่ให้กระทบต่อการให้บริการ